In Bangkok
กทม.ขับเคลื่อนมาตรการห้ามใช้รถควันดำ สั่งตรวจจับ-ปรับจริง20จุดทั่วกรุง
กรุงเทพฯ-ปลัดกทม.ขับเคลื่อนมาตรการ 'ตรวจจับ ปรับจริง-ห้ามใช้รถควันดำ' ตั้งจุดตรวจขาเข้า-ออก กทม. 20 จุด
(20 พ.ย. 64) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้ติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2565 และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมาตรการการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ ได้แก่ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกรมควบคุมมลพิษ ในการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงการกำหนดมาตรฐานค่าควันดำใหม่ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จากยานพาหนะ
ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจควันดำรถทุกประเภทในพื้นที่ กทม. 211,560 คัน มีรถที่ถูกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราวได้แก้ไขและยกเลิกคำสั่งแล้ว 1,589 คัน ตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารที่ใช้งานทั่วประเทศ 255,379 คัน พบรถที่มีค่าควันดำเกินกำหนดและพ่นห้ามใช้ 1,922 คัน สำหรับปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-16 พ.ย. 64 ในพื้นที่ กทม. ตรวจสอบ 45,482 คัน เกินค่ามาตรฐาน 11,459 คัน โดยในปี 2565 จะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำตามโครงการ “รัฐเข้ม ตรวจจับ ปรับจริง-ห้ามใช้รถควันดำ ป้องกันฝุ่น PM2.5” ด้วยการตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภทครอบคลุมถนนสายหลัก/สายรองใน กทม. ทั้งขาเข้าและขาออก 20 จุด /วัน เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 64 ส่วนจังหวัดรอบ กทม. จะมีจุดตรวจจับควันดำอีก 15 จังหวัด พร้อมเพิ่มจุดตรวจรถควันดำในทุกจังหวัดทั่วประเทศและจะบังคับใช้บทลงโทษสูงสุด โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำจากรถให้เข้มงวดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ด้วยการปรับค่าที่ตรวจจากระบบความทึบแสงให้ลดลงเหลือร้อยละ 30 และร้อยละ 40 เมื่อตรวจวัดด้วยระบบกระดาษกรองตรวจวัด ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 65 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานกำหนดรวมถึงหากพบเห็นรถควันดำสามารถแจ้งได้ที่ โทร.1584 เพื่อช่วยกันลดการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ลดผลกระทบต่อสุขภาพ
ในส่วนรถยนต์ของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ลดการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล ตลอดจนนำรถยนต์ในสังกัดเข้ารับการตรวจวัดควันดำเป็นประจำทุก 6 เดือน หากพบว่ามีค่าควันดำเกินเกณฑ์มาตรฐานต้องนำรถไปปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงการกำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้ง ขณะจอดรถรอรับ-ส่ง เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 และมลพิษทางอากาศ ซึ่งหลังจากที่กรุงเทพมหานคร โดยกองโรงงงานช่างกล สำนักการคลัง ได้จัดทำแผนแนวทางการลดมลพิษ pm 2.5 จากการใช้รถราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครประจำปี 2565 โดยจัดทีมช่าง "หน่วยบริการตรวจสภาพรถยนต์เคลื่อนที่เพื่อลดมลพิษ pm 2.5" เพื่อให้บริการตรวจสอบมลพิษรถราชการของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งตรวจสภาพรถยนต์ตรวจวัดปริมาณควันดำจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลและบริการแก้ไขรถราชการที่มีค่าควันดำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากไม่สามารถแก้ไขที่หน้างานได้จะเสนอให้หน่วยงานเจ้าของรถพิจารณางดใช้รถราชการเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้รับการแก้ไข โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. - 18 พ.ย. 64 มีการออกหน่วยบริการไปยังหน่วยงานและสำนักงานเขตต่าง ๆ จำนวน 10 หน่วยงาน ให้บริการตรวจรถยนต์แล้วทั้งสิ้น 436 คัน พบว่ามีค่าควันดำเกินกว่ากฎหมายกำหนด 21 คัน สามารถแก้ไขในระหว่างตรวจวัดได้ 16 คัน ที่เหลือ 5 คัน หน่วยงานเจ้าของรถจะส่งเข้ากองโรงงานช่างกลเพื่อตรวจซ่อมแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถรับทราบข้อมูลแบบเรียลไทม์ รวมทั้งคำแนะนำในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com www.prbangkok.com เฟซบุ๊ก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, เพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ แอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และจอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ หากพบค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่องจะมีการเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนค่าฝุ่นละออง PM2.5 เป็นวันละ 3 รอบเวลา คือ 07.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง พร้อมแนะนำการปฏิบัติหากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง