In Bangkok

กทม.จัดแถลงถึงผลสำเร็จ'ไทยร่วมใจฯ' มี60ภาคีเครือข่ายเข้าร่วมรับโล่ขอบคุณ



กรุงเทพฯ-กทม.จัดแถลงข่าวผลสำเร็จ โครงการ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย" ฉีดวัคซีนโควิดให้คนกทม.กว่า 3 ล้านโดส โดยมีทุกภาคีเครือข่ากว่า60หน่วยงานเข้าร่วมนำโดย สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย

(23 พ.ย.64) เวลา 13.30 น. : พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงผลสำเร็จโครงการ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย ร่วมแถลงผลสำเร็จโครงการ พร้อมด้วยผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากหน่วยงานภาคเครือข่าย 60 หน่วยงาน ร่วมรับมอบโล่แก่พันธมิตรที่ให้การสนับสนุน ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ระลอกใหม่ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงและในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ดังนั้น เพื่อให้การกระจายวัคซีนไปถึงประซาชนกลุ่มเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้โดยเร็วที่สุด จึงเกิดความร่วมมือโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย” ขึ้นระหว่าง กรุงเทพมหานคร หอการค้าไทย โรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลและเปิดให้บริการภายใต้ชื่อ “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” จำนวน 25 ศูนย์ โดยประชาชนสามารถจองสิทธิ์ได้ง่าย ๆ  ผ่านเว็บไซต์ “www.ไทยร่วมใจ.com”   แอปฯเป๋าตัง  และร้านสะดวกซื้อทั่วกรุงเทพฯ

ศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ไทยร่วมใจ ทั้ง 25 แห่ง กระจายครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อความอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมทั้งผู้สูงอายุ  ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ได้รับบริการที่สะดวกสบายและรวดเร็ว ลดความแออัดในสถานพยาบาล โดยสามารถเลือกวัน เวลา และศูนย์ฉีดที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานได้  ระหว่างวันที่ 11 พ.ค.-15 พ.ย.64 ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน  3,089,060  โดส แบ่งการฉีดวัคซีนเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงทดสอบระบบก่อนเปิดโครงการ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย" ด้วยวัคซีน Sinovac (เดือน พ.ค.64) ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวนทั้งสิ้น 222,543 คน โดยแบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 106,228 คน เข็มที่ 2 จำนวน 116,315 คน และช่วงเปิดโครงการ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย" ด้วยวัคซีน Astrazeneca และ Sinovac (วันที่ 7 มิ.ย. - 15 พ.ย.64) ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนที่ลงทะเบียนโครงการไทยร่วมใจ จำนวนทั้งสิ้น 2,866,517 คน โดยแบ่งเป็น เข็มที่ 1 Astrazeneca  1,377,797 คน เข็มที่ 2 Astrazeneca 1,327,766 คน เข็มที่ 3 Astrazeneca  75,931 คน และเข็มที่ 1 Sinovac 85,023 คน (เป็นการฉีดไขว้ เข็มที่ 1 Sinovac และเข็มที่ 2 Astrazeneca )

ผลสำเร็จในการให้บริการวัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วยิ่งขึ้น เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของภาครัฐและเอกชน ในการจัดทำระบบการให้บริการและลงทะเบียนจองวัคซีน จัดหาสถานที่ฉีดที่เหมาะสม สะดวกสบาย ทีมงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากโรงพยาบาลต่าง ๆ  พร้อมทั้งอาสาสมัครที่คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มารับบริการด้วยความเต็มใจและเป็นมิตร ทำให้“หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” ได้คำชื่นชมและความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก 

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบโล่เพื่อแสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนภารกิจครั้งนี้ อาทิ สมาคมหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด กลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ประเทศไทย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมทั้งพันธมิตรที่ร่วมให้บริการ ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนทั้ง 25 แห่ง ได้แก่ 1. ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ร่วมกับโรงพยาบาลเปาโลเมมโมเรียล 2. เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า 3. SCG สำนักงานใหญ่บางซื่อ ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. และสภาการพยาบาล 4. เดอะมอลล์บางกะปิ ร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี 5. เดอะมอลล์บางแค ร่วมกับโรงพยาบาลพญาไท 3 6. ไอคอนสยาม ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช 7. ทรูดิจิทัลปาร์ค ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช 8. เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท 9. โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท 10. โลตัส มีนบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท 11. ธัญญาพาร์ค ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท 12. เซ็นทรัลเวิลด์ ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 13. สามย่านมิตรทาวน์ ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 14. โลตัสพระราม 4 ร่วมกับโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 15. เอเชียทีค ร่วมกับโรงพยาบาลบางปะกอก 1 16. บิ๊กซีบางบอน ร่วมกับโรงพยาบาลบางปะกอก 8 17. ปั๊มปตท.พระราม 2 ร่วมกับโรงพยาบาลบางปะกอก 8 18. เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า ร่วมกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล 19. มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมกับโรงพยาบาลตากสิน 20. ไทยพีบีเอส ร่วมกับ บริษัทธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)  21.มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับโรงพยาบาลกลาง 22. สยามพารากอน ร่วมกับโรงพยาบาลกรุงเทพ 23. บิ๊กซี ร่มเกล้า ร่วมกับโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 24. เดอะเอ็มโพเรียม ร่วมกับโรงพยาบาลสมิติเวช และ25.The Street รัชดา ร่วมกับโรงพยาบาลพระราม 9

อนึ่ง พลตำรวจเอกอัศวิน ยังได้กล่าวถึง มาตรการผ่อนปรนในช่วงต่อไปว่า คาดว่าทางนายกรัฐมนตรี จะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งอาจจะนำการพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการในประเด็นต่างๆ เข้าหารือด้วย ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นคณะกรรมการร่วมพิจารณาและเสนอต่อนายกรัฐมนตรีด้วย ถึงความพร้อมและความปลอดภัยในการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการด้วย