Health & Beauty
theAsianparent Thailandยักษ์อาเซียน สานต่อSidekicksตั้งครรภ์ปลอดภัย
กรุงเทพฯ-theAsianparent Thailand เว็บไซต์และคอมมูนิตี้ออนไลน์อันดับ 1 ครบทุกมิติของพ่อแม่ยุคใหม่ เดินหน้ากิจกรรมส่งเสริมสังคมเดินหน้าโปรเจค Sidekicks การตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และลูกระหว่างการตั้งครรภ์ซึ่งกำลังเป็นหนึ่งปัญหาหลักที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอในการดูแลตนเอง โดยในปีนี้ได้ยกระดับการดำเนินงานเพื่อรณรงค์เชิญชวนคนไทยร่วมลงชื่อสนับสนุนเพื่อแก้ไขกฎหมายการให้คำนิยามใหม่ของคำว่า “ภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอด” จากเดิมที่กำหนดอายุครรภ์ไว้ที่ 28 สัปดาห์ให้ลดลงเหลือ 22 สัปดาห์ โดยนับตั้งแต่โปรเจค Sidekicks ได้เริ่มรณรงค์ในปีที่ผ่านมา theAsianparent Thailand ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ อาทิ บทความ วีดีโอ เว็บบินาร์ และการสำรวจผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ยุคใหม่ดำเนินวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอดได้
อย่างรก็ตาม นางนิธินันท์ อัศวทร กรรมการบริษัท ทิคเคิลด์ มีเดีย จำกัด และผู้จัดการประจำประเทศไทยของ theAsianparent ยังคงเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการลดอัตราการเกิดภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอดคือการเรียกร้องให้รัฐบาลให้การสนับสนุนโปรเจค Sidekicks ให้มากยิ่งขึ้น “รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือพ่อแม่หลายประการ อันได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ว่างงานนับตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดบุตรและดำเนินต่อจนเด็กมีอายุครบ 6 ขวบ แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าพ่อแม่ที่สูญเสียลูกในครรภ์สมควรได้รับการสนับสนุนมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น เราจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยร่วมกันสนับสนุนโปรเจค Sidekicks ด้วยการลงชื่อเพื่อแก้ไขกฎหมายช่วยเหลือพ่อแม่ที่บุตรประสบภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอด ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่ได้อย่างถาวร”
“เราตั้งเป้าจำนวนผู้สนับสนุนไว้ที่ 200,000 รายชื่อ ซึ่งนับเป็นการร่วมกันต่อสู้เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายไปพร้อมกันทุกภาคส่วนของสังคม เราหวังว่าการให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งนี้ จะช่วยผลักดันให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกรณีดังกล่าวได้” นางนิธินันท์กล่าวเสริม “เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า เราจำเป็นต้องนำกรณีศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียมาปรับใช้ตามบริบทสังคมไทย ทั้งนี้ กฎหมายในทั้งสองประเทศดังกล่าวกำหนดให้พ่อแม่ได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่กรณีสูญเสียบุตรตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ การให้สิทธิประโยชน์แก่พ่อแม่ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการลาคลอด 98 วันโดยยังคงได้รับเงินเดือนตามปกติ จะช่วยให้พ่อแม่ที่บุตรประสบภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอดสามารถฟื้นฟูสุขภาพได้ดีกว่า อย่างน้อยก็ทางกาย และยังได้รับการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการจัดการเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพของบุตร การดูแลรักษาสุขภาพหลังคลอด ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางอารมณ์และทางจิตวิทยา ขณะเดียวกัน theAsianparent Thailand ยังคงสร้างสรรค์และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์ปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอด รวมทั้งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนตะแคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่เดือนสุดท้ายและในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ การนับลูกดิ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ การเลิกสูบบุหรี่ ตลอดจนการระมัดระวังไม่สัมผัสกับควันบุหรี่มือสอง
ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มสมาชิกในคอมมูนิตี้ออนไลน์ของ theAsianparent Thailand พบว่า คุณแม่ชาวไทยยังขาดความตระหนักในเรื่องผลกระทบของการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีต่อการตั้งครรภ์ โดยมีข้อมูลจากการสำรวจสตรีมีครรภ์ชาวไทยผ่านแอปพลิเคชัน ดังนี้
57% ของสตรีมีครรภ์ ไม่ทราบว่าสามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวของเด็กทารกได้จากการที่ลูกดิ้น
41% ของสตรีมีครรภ์ ไม่ทราบว่าควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารก
33% ของสตรีมีครรภ์ ยังคงนอนหงายเมื่อย่างเข้าสู่เดือนสุดท้ายและในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์
14% ของสตรีมีครรภ์ ยังคงดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งมักเกิดจากการดื่มยาสมุนไพรโบราณ
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น เราจะใช้คุณประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย ในการสร้างความตระหนักในกลุ่มสตรีมีครรภ์ชาวไทย ไม่เฉพาะเรื่องภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอดเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมเรื่องอื่นๆ ตลอดช่วงเวลาตั้งครรภ์จนถึงการคลอด รวมถึงพัฒนาการของเด็ก และการศึกษาในช่วงปฐมวัย” นางนิธินันท์กล่าวสรุป
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการดำเนินงานเกี่ยวกับแม่และเด็กว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมแม่และเด็กมาโดยตลอด โดยเริ่มดูแลตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงหลังตั้งครรภ์ผ่านการคัดกรองสุขภาพแม่เพื่อตรวจหาโรคที่มีความเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้โรคเหล่านั้นส่งต่อไปถึงลูกได้ ทั้งยังตรวจสุขภาพครรภ์อยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจว่าทั้งแม่และลูกจะปลอดภัย รวมถึงการจัดทำโครงการช่วงหลังคลอด อาทิ โครงการนมแม่ ปัจจุบันปริมาณการเกิดของเด็กในประเทศไทยมีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ ภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของเด็กให้สมบูรณ์แข็งแรงและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลเด็กขณะอยู่ในครรภ์ซึ่งถือเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ การสร้างสรรค์โปรเจค Sidekicks ถือเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการช่วยเสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการเข้ามามีส่วนสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กนั้นทางกระทรวงฯ ยินดีที่จะส่งเสริมเพื่อให้โครงการบรรลุยังเป้าหมาย ขยายเครือข่ายให้กว้างยิ่งขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวไทยให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านพญ. พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้พัฒนาเพจ เรื่องเด็กๆ by หมอแอม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ปลอดภัยว่า การงดบุหรี่และแอลกอฮอล์ การนับลูกดิ้น และการจัดท่านอนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาของอายุครรภ์ คือหลักการเบื้องต้นที่นำไปสู่การตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย โดยปกติการฝากครรภ์ควรเริ่มทันทีที่ทราบ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสังเกตพบการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อายุครรภ์ 2 เดือนขึ้นไป ถือเป็นช่วงที่เริ่มรับรู้ได้ถึงสัญญาณชีพของเด็กในครรภ์และที่สำคัญการฝากครรภ์ยังเป็นการช่วยตรวจเช็กสุขภาพของแม่เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของแม่และลูกระหว่างตั้งครรภ์และขณะคลอดได้ด้วย อีกหนึ่งสัญญาณที่คุณแม่สามารถตรวจเช็กสุขภาพครรภ์คือ การเช็กการดิ้นของเด็ก ซึ่งคุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูกตั้งแต่อายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์เป็นต้นไป หากเริ่มรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นควรรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ท่านอนของคุณแม่ยังส่งผลต่อการเต้นของหัวใจลูกในกรณีแม่ที่มีอายุครรภ์แก่ ควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับเส้นเลือดหลักที่จะส่งผลต่อเด็ก และที่อยากฝากไว้อย่างมากคือ การสูญเสียลูกไม่ใช่ความผิดของแม่ หากตัวอ่อนไม่สมบูรณ์ก็อาจเกิดภาวะแท้งได้เช่นกัน อยากให้ครอบครัวเข้าใจ เพราะแม่ที่ต้องสูญเสียลูกจากการแท้งตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ล้วนต้องการการเยียวยาทั้งทางด้านร่างกายและด้านจิตใจ ที่สำคัญคือต้องการการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน theAsianparent Thailand มีผู้ใช้งานบนทุกแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และโซเชียลมีเดียกว่า 6 ล้านคน theAsianparent Thailand ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 8 มีนาคม 2565 จะสามารถรวมรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการดังกล่าวครบ 200,000 รายชื่อ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการผ่านเว็บไซต์ของ change.org ได้ที่ลิงค์ https://chng.it/NdjF7kYx7p หรือที่หน้าเพจโครงการ Sidekicks ได้ที่ https://project-sidekicks.com/