Travel Sport & Soft Power
จนท.อุทยานฯทับลานช่วยหมูป่าติดบ่วง ตั้งกล้องย้อนรอยรวบพรานนักล่าสัตว์ป่า
ปราจีนบุรี- จนท.อุทยานแห่งชาติทับลาน ช่วยหมูป่าติดบ่วงสลิง ไม่พบคนร้ายจากนั้นได้ย้อนกลจับหนุ่มใหญ่โดยได้นำกล้องดักถ่ายติดตั้ง ระบบส่งสัญญาณหลังพบคนร้ายเข้าพื้นที่ ระบุคือภัย – มฤตยูเงียบ สำหรับสัตว์ป่า ทุกประเภท ช้าง กระทิง ฯลฯ ทั่วประเทศ ถูกพรานดักบ่วงสลิงรัดขา-เท้าขาดตาย!!!
มื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ 23 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรี รายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจาก นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ออกตรวจลาดตระเวนป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ท้องที่บริเวณป่าซับเม็ก หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน พบหมูป่าติดอยู่ที่บ่วงกับดักสัตว์ประเภทลวดสลิง จำนวน 1 ตัว เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการช่วยเหลือหมูป่าตัวดังกล่าวและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
จากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุโดยละเอียด พบว่า มีบ่วงกับดักสัตว์ประเภทลวดสลิงติดตั้งอยู่ในพื้นที่โดยรอบ จำนวน 11 หลัง ภายหลังจากการปล่อยหมูป่าและตรวจสอบพื้นที่โดยรอบ คณะเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ (Real time camera trap) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ NCAPS ไว้ในบริเวณดังกล่าว เพื่อสืบหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป
จนกระทั้งในวันที่ 22 มกราคม 2564 เวลา 11.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งเตือนจากระบบ NCAPS พบว่ามีบุคคลเข้าไปยังจุดที่พบบ่วงกับดักสัตว์ประเภทลวดสลิง เจ้าหน้าที่จึงได้รุดเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตรวจสอบทันที เจ้าหน้าที่ไปถึงจุดเกิดเหตุ พบชายต้องสงสัย 1 ราย กำลังตรวจสอบดูบ่วงกับดักสัตว์ลวดสลิงดังกล่าว และพบว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับที่กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ในระบบ NCAPS สามารถบันทึกภาพไว้ได้ จึงได้ควบคุมตัวผู้กระทำความผิดมายังที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ทราบชื่อในภายหลังคือ นายอมร อายุ 51 ปี ชาวจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมของกลางที่สามารถตรวจยึดในที่เกิดเหตุ
โดยของกลางประกอบด้วยบ่วงกับดักสัตว์ประเภทลวดสลิง จำนวน 11 หลังมีด จำนวน 1 เล่มตะปู จำนวน 11 ดอก เชือก จำนวน 2 เส้นกระเป๋าสะพายข้าง (ย่ามผ้า) จำนวน 1 ใบจากการสอบถามนายอมร ผู้ถูกจับกุม ให้การยอมรับว่าบ่วงกับดักสัตว์ประเภทลวดสลิงที่ตรวจพบนั้นเป็นของตน โดยได้ขึ้นไปติดตั้งบ่วงฯในบริเวณดังกล่าวเมื่อประมาณ 1 เดือนที่แล้ว และได้เข้ามาดูบ่วงฯทุกๆ 3-4 วัน ซึ่งในวันที่ถูกจับกุมดังกล่าว ตนได้เข้ามาตรวจดูบ่วงฯที่ติดตั้งไว้ตามปกติ แต่มาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้เสียก่อน
เจ้าหน้าที่แล้วเห็นว่า การเข้าติดตั้งบ่วงกับดักสัตว์ประเภทลวดสลิง ในพื้นที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแก่งดินสอฯ นั้น ถือว่ามีเจตนาเพื่อล่าสัตว์ในเขตพื้นที่ดังกล่าว อันเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ ตามมาตรา 19(3) 19(6) และ 19(7) มีโทษตาม มาตรา 43 , 44 , 45 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 14(1) มีโทษตาม มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เจ้าหน้าที่นำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
และเปิดเผยเพิ่มเติม บ่วงสลิง เป็นอุปกรณ์ล่าสัตว์ป่า ที่อันตราย มีพบกระจายทั่วประเทศ เป็นอุปกรณ์ล่าสัตว์ป่า ที่พราน ไม่จำเป็นต้องมีปืนเข้าไปในป่าเพื่อใช้ล่าสัตว์ป่า แต่จะใช้บ่วงสลิงที่ตั้งดักสัตว์ไว้ สัตว์ป่าจะบาดเจ็บล้มตายจาก “บ่วง” เป็นเหมือมฤตยูเงียบของสัตว์ป่า ลวดสลิงจะรัดขา ข้อเท้า สัตว์ป่า ทั้งเล็ก – ใหญ่นานาชิดที่ไปติด เนื่องจาก สัตว์ป่าไม่มีแรงพอที่จะดึงให้สลิงขาด แต่กว่าหากจะขาดได้ ก็ถูกรัดถึงกระดูก จนบางทีตอนเจ้าหน้าที่ไปช่วยต้องตัดแขนทิ้งหากไม่ได้รับการดูแผลรักษา สัตว์ป่าอาจขา,เท้าขาด และตายในที่สุด ไม่ว่า สัตว์ป่านั้น จะเป็น ช้างป่า กระทอง กวาง หมูป่า ฯลฯ กล้องที่ติดตั้งไว้ ดักดู จะช่วยสัตว์ป่าได้ ให้พ้นภัย”นายประวัติศาสตร์กล่าว
และ กล่าวต่อไปว่า “วัตถุประสงค์ การเผยแพร่ เรื่องลวดสลิง –มฤตยูมืด สำหรับสัตว์ป่า คืออยากให้เจ้าหน้าที่พยายามหาวิธีการจัดการกับคนที่วางบ่วงดักสัตว์ป่า เพราะ ในช่วงที่ผ่านมาบ่วงดักสัตว์เริ่มปรากฏพบตามขอบป่าในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อ้างว่าดักหมูป่า หรือสัตว์ขนาดเล็ก ที่ลงมาทำลายพืชไร่,หากินตามแหล่งน้ำ (ซึ่งจริงๆแล้วก็ผิดกฎหมายกันทั้งหมด) แล้วก็พาลว่าเจ้าหน้าที่ไม่ช่วยเรื่องสัตว์เหล่านี้ลงมากินพืชไร่
อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือชี้ให้เห็นถึงความโหดร้ายของคนดักบ่วง พอถูกจับได้ญาติพี่น้องก็โวยวายบอกว่าเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งจริงๆแล้วก็มีการประชาสัมพันธ์ว่าการล่าสัตว์มีโทษทางอาญาถึงขั้นจำคุกหลายปี แต่ทั้งที่รู้ก็ยังทำ
จริงๆ คือ พรานเหล่านี้ปรับเปลี่ยนวิธีการที่ปลอดภัยกว่าการถือปืนเข้าไปยิงสัตว์ เพราะการดักบวงเป็นวิธีการที่เงียบ เมื่อสัตว์ถูกบ่วงรัด คนใจร้ายจะเอาไม้หรือปืนขนาดเล็ก มาทุบหรือจ่อยิงให้ตาย”นายประวัติศาสตร์ กล่าวในที่สุด
ที่ทับลานพบเหตุเหล่านี้มากขึ้นกว่าเดิม สันนิษฐานว่าพวกที่เคยหาไม้พะยูงปรับเปลี่ยนวิธีการหากินโดยไปล่าสัตว์ป่าไปกิน หรือแอบขายตามหมู่บ้าน เลี้ยงชีพแทนการเข้าไปหาไม้พะยูง เพราะเจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันเรื่องการลักลอบตัดไม้อยู่ข้างในป่าลึก
มานิตย์ สนับบุญ/ปราจีนบุรี