Travel Sport & Soft Power
พังงาปิดโครงการฝึกอบรมโคกหนองนา มอบประกาศนียบัตรผู้ต้องขังผ่านอบรม
พังงา-ปิดโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง รุ่นที่ 2/2 กรมราชทัณฑ์ มอบประกาศนียบัตร พร้อมปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 221 คน
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564 ณ อาคารอเนกประสงค์ภายในเรือนจำจังหวัดพังงา ตั้งอยู่ 51/1 ม.3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมือง จ.พังงา สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีปิดโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง รุ่นที่ 2/2 กรมราชทัณฑ์ และมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรม พร้อมปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จำนวน 221 คน แยกเป็น ชายสัญชาติไทย 132 คน ชายสัญชาติเมียนมาร์ 1 คน เป็นหญิงสัญชาติไทย 87 คน และสัญชาติเมียนมาร์ 1 คน โดยมี นายอาคม ภูศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพังงา, นางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา, หัวหน้าส่วนราชการ, เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่สังกัดกรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมพิธีฯ ทั้งนี้ สำหรับโครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” รุ่นที่ 2/2 กรมราชทัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทาน ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่อง และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด การฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถนำความรู้ไปใช้เพื่อพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เมื่อพ้นโทษออกไป
นายอาคม ภูศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ในส่วนเรือนจำจังหวัดพังงา ได้กำหนดจัดอบรมโครงการฯ โดยปฏิบัติการฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 11-24 มกราคม 2564 โดยแบ่งขั้นตอนการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นที่ 2 การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวความคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคมลงบนกระดาษ การสร้างพื้นที่จำลอง(Table Top Exercise)และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพอกิน พออยู่ พอใช้ และพอร่มเย็น การปฏิบัติในพื้นที่จริงที่มีขนาด 100 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม และ ขั้นที่ 3 เป็นการสรุปและประเมินผล
“การฝึกอบรมได้ดำเนินการเสร็จสิ้นครบถ้วนตามหลักสูตรการฝึกเรียบร้อยแล้ว ผลการฝึกอยู่ในเกณฑ์ดีมากผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพการงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและผู้อื่น ไม่หวนกลับกระทำผิดซ้ำอีก และสังคมต้องยอมรับต่อไป” ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพังงา กล่าวในที่สุด
เรือนจำจังหวัดพังงา ปรับพื้นที่สร้างโคกหนองนาต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวด้านเกษตรแห่งใหม่ของพังงา "เช็คอิน กินกาแฟ แลภูผา"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ผ่านการฝึกอบรมโครงการพระราชทาน "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง" กรมราชทัณฑ์ เรือนจำจังหวัดพังงา และเป็นประธานในพิธีปิดการฝึกโครงการฯเสร็จสิ้นแล้ว ต่อจากนั้น นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคกหนองนา โมเดล เรือนจำจังหวัดพังงา ภายใต้คำขวัญว่า "เช็คอิน กินกาแฟ แลภูผา" โดยเรือนจำจังหวัดพังงาได้น้อมนำโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ รวมถึงแผนพัฒนาจังหวัดพังงา(พ.ศ.2561-2564) เพื่อสร้างต้นแบบโคกหนองนาโมเดลให้เป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และเป็นศูนย์เรียนรู้
สำหรับผู้ต้องราชทัณฑ์ที่พ้นโทษและบุคคลทั่วไปให้ได้เข้ามาศึกษา พร้อมทั้งเป็นจุดเช็คอินด้านการเกษตรแห่งใหม่ของพังงา ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง สร้างเสริมคุณภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศครบวงจร ทำให้เรือนจำและชุมชนได้อยู่ใกล้กันและเข้าถึงกันได้มากขึ้นเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลทั่วไป คืนคนดีให้ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยมีพื้นที่ต้นแบบอยู่ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดพังงา วิทยาลัยเทคโนโลยีพังงา และเรือนจำจังหวัดพังงา
สำหรับพื้นที่ที่ใช้ดำเนินโครงการจะเป็นพื้นที่ของเรือนจำจังหวัดพังงา ขนาด 4 ไร่ ด้วยการเพาะปลูกพืชผักแบบผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งการปลูกผัก ผลไม้ ต้นไม้โตเร็ว ปลูกข้าว มีสถานที่พักผ่อนเป็น "โรงกาแฟโคกหนองนา" ที่ล้อมลอบไปด้วยลำคลองไส้ไก่ขนาดเล็ก ผู้มารับบริการสามารถนั่งจิบกาแฟพร้อมกับชมสีเขียวของพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ชมบรรยากาศท่ามกลางหุบเขาที่มีลักษณะแปลกตาและสวยงามในของตัวเมืองพังงาได้อย่างเพลิดเพลิน