Travel Sport & Soft Power

ผู้ปลูกมะขามเทศเพชรโนนไทยสุดปลื้ม! รายได้พุ่งเฉลี่ยกว่า30ล้านแม้เจอโควิด



นครราชสีมา-เกษตรกรผู้ปลูกมะขามเทศเพชรโนนไทยโคราช กว่า 300 ราย โกยรายได้เงินหมุนเวียนเฉลี่ยปีละกว่า 30 ล้านบาท ถึงแม้จะเจอ พิษโควิดเล่นงานก็ตาม พร้อมมีบริการของทางออนไลน์

วันนี้ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สวนมะขามเทศตาเทียมเพชรโนนไทย ตั้งอยู่ที่บ้านแฉ่ง หมู่ที่ 3 ตำบลถนนโพธิ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปลูกบนเนื้อที่จำนวน 5 ไร่ มีต้นมะขามเทศจำนวน 80 ต้น โดยภายใน 1 ปี จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 เดือน ในช่วงของเดือนมกราคมกุมภาพันธ์และมีนาคม ของทุกปี ซึ่งจะได้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 1.6 ตัน และมีรายได้จุนเจือครอบครัววในช่วงระยะเวลา 3 เดือนกว่า 1 แสนบาท

นายบุญเทียม ซอสันเทียะ อายุ 62 ปี เจ้าของมะขามเทศเพชรโนนไทย เปิดเผยว่า เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ดินเค็ม ไม่สามารถที่จะเพาะปลูกอะไรได้ ตนจึงไปนำพันธุ์มะขามเทศมาจากจังหวัดลพบุรีมาลองทดลองปลูกเป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จนได้ผลตอบกลับค่อนข้างดี ตนจึงมีการพัฒนาต่อยอดมาอยู่เรื่อยๆและมีการใช้ปุ๋ยชีวภาพประกอบไปด้วยสับปะรดและกากน้ำตาลหมักตามสูตรของตนเองก่อนจะนำไปรถในต้นมะขามเทศอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพิ่งจะช่วยทำให้มะขามเทศนั้นมีความหวานกรอบและมัน จนเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนชอบรับประทานมะขามเทศเป็นอย่างมากและสามารถนำไปเป็นของกินเล่นรวมไปถึงของฝากให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยผลผลิตต่อวันจะสามารถเก็บได้20-30 กิโลกรัมต่อวัน โดยราคาขายจะแบ่งออกเป็น หากฝักใหญ่จะขายกิโลกรัมละ 80 บาท ฝักเล็กจะขายกิโลกรัมละ 50 บาท ถือเป็นราคาหน้าสวนให้กับพ่อค้าคนกลางนำไปจำหน่ายต่อ ถือว่าเป็นที่นิยมของตลาดเป็นอย่างมากในช่วงนี้ แต่ติดว่าในช่วงของสถานการณ์โควิด พ่อค้าคนกลางจะเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมารับสินค้าไปขายต่อนั้น ทำได้ค่อนข้างจะลำบากเนื่องจากว่าจะต้องมีการกักตัว 14 วัน จึงทำให้สินค้านั้นค่อนข้างที่จะกระจายไปได้ไม่ทั่วถึงเหมือนทุกปีที่ผ่านมา

เลยอยากฝากถึงประชาชนที่ชื่นชอบของมะขามเทศให้ลองมาลิ้มรสรับประทานหรือสามารถสั่งจองได้ที่เบอร์โทร0851442735หรือ0844112578ซึ่งสามารถส่งทางออนไลน์ได้ โดยมะขามเทศเพชรโนนไทยสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานกว่า 1 อาทิตย์ และไม่มีการฉีดยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม พบว่าในพื้นที่อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา พบเกษตรกรปลูกมะขามเทศเพชรโนนไทยจำนวนกว่า 300 ราย เนื้อที่กว่า 2,500 ไร่ มีเงินหมุนเวียนเฉลี่ยต่อปีกว่า 30 ล้านบาท

ณัฐพงศ์ อรชร/ข่าวนครราชสีมา