Travel Sport & Soft Power

พังงานำสับปะรดภูงาแลกข้าวหอมมะลิ ร่วมสหกรณ์อีสาน'4.5พันลูกแลกข้าว9ตัน'



พังงา-สหกรณ์พังงาช่วยเกษตรกรนำสับปะรดภูงา4,500 ลูกแลกข้าวหอมมะลิ 9 ตันกับสหกรณ์ภาคอีสาน

วันที่ 1 มีนาคม 2564 นางสาวสาวดี  รักษ์ศิริ สหกรณ์จังหวัดพังงา  พร้อมด้วยนางสาวปรียาภัทร์   พรหมชูแก้ว  ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พังงา  จำกัด (สกต.)  และ นางสาววรนิษฐ์   อภิรัฐจิรวงษ์  พาณิชย์จังหวัดพังงา ลงพื้นที่ ต.โคกกลอย  อ.ตะกั่วทุ่ง  จ.พังงา  เพื่อดูการรวบรวมสับปะรดพันธุ์ภูงา โดยมีนายชัยยันต์  พึงสงวน สมาชิกของสหกรณ์ฯเป็นผู้รวบรวม  สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้ผลผลิตสับปะรดภูงาที่กำลังออกสู่ตลาดมาก ประสบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตลาดหลักนั้น กำลังประสบปัญหาอย่างหนักนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เกษตรกรจึงไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตให้กับโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆได้ ทำให้ราคาตกต่ำ ต้องอาศัยขายตามริมทางและตามตลาดนัดซึ่งจำนวนการซื้อมีน้อยทำให้ระบายสินค้าไม่ทันราคาจึงตกต่ำลงเหลือลูกละ15-20 บาทเท่านั้น  ทางสหกรณ์จังหวัดพังงาร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พังงา  จำกัด(สกต.)  ได้เข้าไปช่วยแทรกแซงราคาและหาตลาดปลายทางให้โดยผ่านเครือข่ายสหกรณ์เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า  ซึ่งในวันนี้ได้รวบรวมสับปะรดจำนวน  4,500 ลูก  น้ำหนักประมาณ 7 ตัน ส่งไปแลกเปลี่ยนกับข้าวหอมมะลิ  100% จำนวน  9  ตัน ของสหกรณ์เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.บุรีรัมย์  จำกัด    สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ร้อยเอ็ด จำกัด และสหกรณ์การเกษตรมหาชนะชัย จำกัด จ.ยโสธร

นางสาวสาวดี  รักษ์ศิริ กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาผลผลิตสับปะรดพันธุ์ภูงาตกต่ำ ทางจังหวัดพังงาได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และให้การช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วน ซึ่งได้ดำเนินการโดยอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในการขนส่งสินค้าเกษตรไปสู่ผู้บริโภคต่างจังหวัด การประสานงานเครือข่ายผู้รับซื้อจากแหล่งต่างๆ การรวบรวมผลผลิตของ สกต.เพื่อกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ชาวพังงาช่วยซื้อสับปะรดของเกษตรกร ตลอดจนการเปิดจุดจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ  สำหรับสับปะรดภูงา นั้น เป็นสับปะรดพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรในพื้นที่ได้ทำการศึกษา และพัฒนาสายพันธุ์ จนมีผลขนาดใหญ่ รูปทรงยาว ตาตื้น สีเขียวอมเหลือง เนื้อสีเหลืองสม่ำเสมอ รสหวาน กรอบ มีกลิ่นหอม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว