In Bangkok
กทม.ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกองค์กร หนุนเอกชนเป็นหัวใจหลักใแก้ปัญหา
กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯกทม. ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกในองค์กร และสนับสนุนภาคเอกชนเป็นหัวใจหลักในการแก้ปัญหาให้กรุงเทพฯ น่าอยู่อย่างยั่งยืน
(18 ต.ค.66) เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ The Workshop on Net Zero Emissions Business Opportunity under Bangkok-Yokohama City-to-City Program ครั้งที่ 3 ณ ห้องแมนดารินแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมแมนดาริน เขตบางรัก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ The Workshop on Net Zero Emissions BusinessOpportunity under Bangkok-Yokohama City-to-City Program ครั้งที่ 3 เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญภายใต้โครงการความร่วมมือ City to City ระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่มีความมุ่งพยายามปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ตามวิสัยทัศน์ระยะยาวของแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 - 2573 ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาชน เพื่อแก้ปัญหาในหลายมิติ ซึ่งความร่วมมือในระดับองค์กร อาทิ 1. ความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่ได้ดำเนินโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อคำนวณการปล่อยคาร์บอน จากหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยนำร่องใน 3 สำนักงานเขต คือ สำนักงานเขตดินแดง สำนักงานเขตบางขุนเทียน และสำนักงานเขตประเวศ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้ง 50 สำนักงานเขต ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร ในการกำหนดมาตรการลดคาร์บอนขององค์กรได้ 2. ความร่วมมือกับองค์กร GIZ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพมหานครในด้านขนส่งพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. ความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในการดำเนินโครงการคัดแยกขยะในชุมชน โครงการส่งเสริมการลดใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และโครงการให้บริการที่ปรึกษาด้านพลังงาน และ 4. โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นที่กรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร เพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของเมือง และช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนในอนาคต
“การประชุมวันนี้เป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันและมีความก้าวหน้าอย่างจริงจัง เนื่องจากขณะนี้เป็นเทรนของโลกในเรื่องของการลดคาร์บอนฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแล้วหลายขั้นตอนในหลายมิติ รวมถึงการเปลี่ยนรถราชการเป็นรถ EV การใช้พลังงานสะอาด การเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็น LED ซึ่งได้ดำเนินการเป็นรูปธรรม และยังช่วยให้เราเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยในเรื่องนี้ได้ดีขึ้นอีกด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
นายพรพรหม ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ขณะนี้การดำเนินการโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเพื่อคำนวณการปล่อยคาร์บอนจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในเขตนำร่อง 3 เขตเสร็จสิ้นแล้ว โดยปีงบประมาณนี้จะขยายให้ครบ 50 เขต ซึ่งจะใช้ 3 เขตนำร่องนี้เป็นต้นแบบและเป็นเขตที่เป็นผู้ฝึกสอนเผยแพร่การดำเนินการไปสู่เขตอื่นต่อไป
“หัวใจของความสำเร็จในเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้อยู่ที่ทางภาครัฐ เนื่องจากปล่อยคาร์บอนไม่มากเท่าภาคเอกชน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ภาคธุรกิจและภาคเอกชนเป็นหลักและเป็นหัวใจในการแก้ปัญหา ด้วยการรณรงค์ให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญทั้งผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผู้ที่มีเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย โดยภาครัฐจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกและออกกฎระเบียบที่ยุติธรรมในการดำเนินการ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ร่วมกับเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 - 2573 ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ในการลดก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 3 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18 ต.ค.66 เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ ห้องแมนดารินแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ เขตบางรัก เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในโครงการ City-to-City นำไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจของฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น (Business Matching)
การเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ นายยูทากะ มัตซูซาวา (Mr. Yutaka Matsuzawa) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมออนไลน์ในพิธีเปิด โดยมีนายทาคุโระ ทาซากะ (Mr. Takuro Tasaka) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายโทรุ ฮาชิโมโต (Mr. Toru Hashimoto) ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศเมืองโยโกฮามาและคณะผู้บริหารเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมพิธี