In Bangkok
เปิดแล้ว!สวนมีนบุรีภิรมย์ริมคลองแสนแสบ 'จักกพันธุ์'ยันตามนโยบายผู้ว่าฯกทม.
กรุงเทพฯ-เปิดสวนมีนบุรีภิรมย์สวนแห่งใหม่ริมคลองแสนแสบ เช็กค่าฝุ่นไซต์ก่อสร้างที่ทำการศาลมีนบุรี ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดบำเพ็ญเหนือ จัดระเบียบผู้ค้าถนนสีหบุรานุกิจ ติดตามระบบ BMA-TAX งานทะเบียนบัตร แยกขยะเขตมีนบุรี
(31 ต.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตมีนบุรี ประกอบด้วย
เปิดสวน 15 นาที สวนมีนบุรีภิรมย์ ถนนสีหบุรานุกิจ บริเวณหลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ พื้นที่ 3 ไร่ ซึ่งเป็นสวน 15 นาที ที่เขตฯ จัดทำขึ้นใหม่ โดยดำเนินการถมดินปรับสภาพพื้นที่ ปลูกต้นไม้ ปูหญ้า ทำทางเดินและลู่วิ่งออกกำลังกาย จัดวางม้านั่งสำหรับนั่งเล่นพักผ่อน จัดทำจุดถ่ายภาพเช็คอิน โดยมีไฮไลท์คือ เสาชิงช้าจำลอง ซึ่งตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางสวน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตมีนบุรี ได้ร่วมกันเปิดสวนมีนบุรีภิรมย์ และปลูกต้นทองกวาว เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นบริเวณสวนดังกล่าว นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนโครงการซอยร้าง พื้นที่ 2,320 ตารางเมตร 2.สวนข้างลำรางหลังการไฟฟ้าลาดกระบัง พื้นที่ 1,650 ตารางเมตร 3.พื้นที่ว่างหมู่บ้านบัวขาว ซอย 19 พื้นที่ 2,600 ตารางเมตร 4.สวนบึงขวาง ซอย 13 พื้นที่ 12 ไร่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ และสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกแบบสวน การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ รวมถึงให้เขตฯ พัฒนาและปรับปรุงสวนสาธารณะเดิมคือ สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 พื้นที่ 6 ไร่2 งาน 40.94 ตารางวา ให้มีความร่มรื่นสวยงาม
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลแพ่งมีนบุรีและศาลอาญามีนบุรี พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ ถนนสุวินทวงศ์ 36 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำ อุปกรณ์ล้างทำความสะอาดรถและล้อรถให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 32 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 10 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 9 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เน้นย้ำสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดบำเพ็ญเหนือ ถนนเสรีไทย พื้นที่ 13 ไร่ 47 ตารางวา มีครูบุคลากรและนักเรียน 605 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังรองรับขยะเศษอาหารในโรงอาหาร ให้นักเรียนนำเศษอาหารมาเท โดยจะนำเศษอาหารไปเลี้ยงปลา ทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล มีกิจกรรมธนาคารขยะ การอบรมการคัดแยกขยะทุกปี จัดจุดรวบรวมขยะรีไซเคิล เช่น กล่องนม ขวดพลาสติก กระดาษลัง กระดาษขาวดำ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ 3.ขยะทั่วไป มีจุดทิ้งขยะทั่วไป เช่น ถุงขนม กระดาษชำระ ขยะปนเปื้อนอาหาร 4.ขยะอันตราย มีจุดทิ้งขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ กระป๋องสี น้ำยาล้างห้องน้ำ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 18,250 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 16,147 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,850 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 250 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 0.1 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนสีหบุรานุกิจ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 11 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 117 ราย ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 2.ถนนนิมิตใหม่ 1 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 3.ถนนรามคำแหง 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. 4.ถนนราษฎร์อุทิศ 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. 5.ถนนสามวา 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. 6.ถนนสีหบุรานุกิจ 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 7.ถนนสุวินทวงศ์ 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 8.ถนนหทัยราษฎร์ 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. 9.ถนนประชาร่วมใจ 1 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. 10.ถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. และ 11.ถนนบึงขวาง 1 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-18.00 น. ซึ่งในปี 2566 เขตฯ ได้พิจารณายุบจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย 3 จุด ได้แก่ ถนนนิมิตใหม่ ถนนประชาร่วมใจ ถนนบึงขวาง คงเหลือพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 114 ราย นอกจากนี้เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่บริเวณหน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ถนนรามคำแหง เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center รวมถึงหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยรายเพิ่มเติม ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ต่อไป
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 62,592 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 52,467 แห่ง ห้องชุด 11,220 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 126,279 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตมีนบุรี โดยได้สอบถามถึงระยะเวลาตั้งแต่รับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ หาแนวทางรวบรัดขั้นตอนการทำงานเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการงานทะเบียน
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ เขตมีนบุรี มีข้าราชการและบุคลากร 728 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ทุกฝ่ายจัดวางถังขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่ช่วยกันคัดแยกขยะ โดยทุกเดือนจะนำไปขายให้กับสหกรณ์ขยะรีไซเคิล หรือร้านรับซื้อของเก่า และมีจุดรับบริจาคขยะรีไซเคิลให้ประชาชนนำมาทิ้งหรือบริจาค 2.ขยะอินทรีย์ ทุกฝ่ายจะมีถังขยะแยกเศษอาหาร เจ้าหน้าที่จะเก็บรวบรวมมาเทในถังรักษ์โลกเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนเศษอาหารที่โรงอาหารจะมีเกษตรกรในพื้นที่มาเก็บไปเลี้ยงปลา 3.ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งขยะอันตราย มีเจ้าหน้าที่มาจัดเก็บทุกวัน 4.ขยะทั่วไป ทุกฝ่ายมีถังรองรับขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่จะนำมาทิ้งที่จุดรวบรวมขยะของเขตฯ และมีจุดรองรับขยะกำพร้า สำหรับทิ้งขยะทั่วไปที่ไม่ปนเปื้อนอาหารและสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 35,500 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 24,835 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 5,800 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 4,820 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/เดือน
ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล