In Bangkok

กทม.ผลักดันการปลูกผักปักธง200แปลง เกษตรในเมืองความมั่นคงทางอาหาร



กรุงเทพฯ-“จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าความมั่นคงทางอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต คนในกรุงเทพฯ มีความจนมากกว่าคนต่างจังหวัด ซึ่งไม่ใช่ความจนในความหมายของเรื่องการเงิน แต่เป็นการจนทรัพยากร เพราะแม้มีเงินแต่หากไม่มีทรัพยากรให้ซื้อก็อยู่ยาก ดังนั้น เรื่อง ‘เกษตรในเมือง’ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองในมิติความยั่งยืน” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกผักเพื่อความมั่นคงทางอาหาร รุ่นที่ 1 ณ โรงแรมกราฟ ถ.รัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง วันนี้ (16 พ.ย. 66) โดยมี นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า  กรุงเทพมหานครมีโครงการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรในพื้นที่ อาทิ การขยายตลาดในรูปแบบ Farmer Market ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรมีโอกาสนำสินค้ามาจำหน่าย โครงการปลูกพืชผักเกษตรปลอดสารพิษ 200 แปลง ในพื้นที่ 50 เขต (เป้าหมายเฉลี่ย เขตละ 4 แปลง) เป็นต้น ปัจจุบันเครือข่ายของชุมชนในกรุงเทพฯ มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และกรุงเทพมหานครจะเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้เกษตรในเมืองเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่จะได้เห็นอยู่โดยทั่วไป ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินการดังนี้ 1. ปรับโครงสร้างสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) โดยยกระดับจากกลุ่มงานเป็นส่วนส่งเสริมเกษตรกรรม ภายใต้สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สพส. เพื่อดูแลเรื่องเกษตรอย่างจริงจังมากขึ้น 2. มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการอบรมและสนับสนุนต้นทุนการผลิตเพื่อให้สามารถต่อยอดในเรื่องการเกษตรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับการจัดอบรม “โครงการส่งเสริมการปลูกผักเพื่อความมั่นคงทางอาหาร” เป็นการอบรมแบบไป-กลับ จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 25 เขต โดยจัดอบรมในวันที่ 16 และ 17 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมกราฟ เขตห้วยขวาง มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 140 คน ได้รับการส่งเสริมการปลูกผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ โดยใช้ที่ว่างในชุมชน บ้านเรือน สถานที่ราชการ และสถานที่เอกชน เพื่อให้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัย มีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคในระดับครัวเรือนและชุมชน สามารถต่อยอดถึงการจำหน่ายสู่ตลาด รวมถึงเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง และเป็นการทำให้พื้นที่ว่างกลายเป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีแผนใหม่ เพิ่มวิสัยทัศน์ด้านการเกษตร และสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้กับการปลูกผักเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในกรุงเทพมหานครต่อไป