In Bangkok
กทม.ชนหมัดคมนาคมเดินหน้าพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนตั้งเป้าลด PM 2.5
กรุงเทพฯ-(20 พ.ย.66) เวลา 15.00 น. : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมแถลงนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมแถลงข่าวและมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น 2 อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีอัตราการ
ใช้รถยนต์บนท้องถนน การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุในการเกิดมลพิษ ทางอากาศฝุ่น PM 2.5 โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนลดฝุ่น 365 วัน ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. และแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤตที่มีค่าฝุ่น ตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.ม. เพื่อการติดตามเฝ้าระวัง กำจัดต้นตอ ป้องกันประชาชน และการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบทุกมิติ พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับกรมขนส่งทางบก (ขบ.) ออกตรวจสอบวัดค่าควันดำรถบรรทุก ณ สถานประกอบการ ได้แก่ แพลนท์ปูน บริเวณไซต์งานก่อสร้าง สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ปัญหาหลักมี 3 เรื่อง คือ 1. คุณภาพของรถยนต์ที่นำมาใช้ เช่น เครื่องยนต์รถดีเซลซึ่งปล่อยฝุ่นละอองจำนวนมาก การที่เราตั้งจุดตรวจควันดำจะช่วยได้มาก รวมถึงการร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงาน ในการสร้างมาตรการรณรงค์หรือโครงการช่วยเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศรถบรรทุกให้บ่อยขึ้น ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ 2. การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งกทม. จะสนับสนุนในเรื่องของรถ Feeder และพัฒนาคุณภาพของรถประจำทางเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนา Bus Lens ในถนนที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดให้คนมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น 3. เรื่องของการควบคุมคุณภาพอากาศจากการก่อสร้างต่างๆ และควบคุมการก่อสร้างให้รวดเร็วเพื่อเร่งคืนผิวการจราจร ลดการจราจรติดขัด ซึ่งการบูรณาการร่วมกันครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะลดฝุ่น PM 2.5 ให้ประสบความสำเร็จ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า กทม. มีแนวคิดที่จะแสดงให้เห็นว่า กทม.ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว ด้วยการพัฒนารถประจำทางให้มีความพร้อมปลอดภัยและเชื่อมโยงในระดับเส้นเลือดฝอยเพื่อขนส่งประชาชนสู่ระบบขนส่งสาธารณะสายหลักที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณชานเมืองที่ต้องพัฒนาเนื่องจากปัจจุบันประชาชนพักอาศัยยามชานเมืองมากขึ้น นอกจากนี้กทม. จะเป็นเสมือนผู้สำรวจเส้นทางใหม่ๆ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นแต่ยังขาดระบบขนส่งสาธารณะ โดยจะเข้าไปบุกเบิกนำร่องเส้นทางรถประจำทางหรือรถ Feeder ซึ่งหากเส้นทางดังกล่าวผลตอบรับดีมีผู้ใช้งานมากก็จะส่งต่อให้ผู้ประกอบการเอกชนที่สนใจดำเนินการต่อไป รวมถึงการสำรวจถนนที่สามารถจัดสร้าง Bus Lens ได้ รวมถึงเพิ่มความถี่และปรับปรุงคุณภาพของรถ MRT ก็จะสามารถทำให้ขยายเส้นทางไปสู่ถนนสาทรได้ในอนาคต
" ปัญหาฝุ่น.PM 2.5 เกี่ยวข้องถึงหลักเศรษฐศาสตร์และปัญหาเชิงเศรษฐกิจ อาทิ การเปลี่ยนให้เป็นรถบรรทุกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็จะกระทบผู้ประกอบการรายย่อย การเผาตอซังข้าวก็ต้นทุนถูกกว่าการจัดเก็บตอซังข้าว การใช้รถยนต์ส่วนตัวก็สะดวกสบายกว่าการใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือการเดินทางเท้า ดังนั้น โจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนร่วมในมาตรการลด PM 2.5 โดยมีต้นทุนที่ถูกลง รวมถึงพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวกสบายปลอดภัยขึ้น" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครได้บูรณาการร่วมกันในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยความห่วงใยและใส่ใจในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของพี่น้องประชาชนรวมถึงเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำนโยบายเชิงรุก ในการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดมาตรการแก้ปัญหา ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน รวมถึงติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ตรงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยมีมาตรการ อาทิ
กรมการขนส่งทางบก ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ตรวจวัดควันดำรถบรรทุก ณ สถานประกอบการ ได้แก่ แพลนท์ปูน บริเวณไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และจัดชุดเฉพาะกิจออกตรวจสอบสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ในกรุงเทพฯ ให้ครบทุกแห่ง (233 แห่ง) เพื่อให้การตรวจสภาพรถเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตรวจสอบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร (หมวด 1) ณ อู่รถขสมก. ทั้ง 8 เขตการเดินรถ จำนวน 21 แห่ง นอกจากนี้จะร่วมมือกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ตรวจสอบรถโดยสารประจำทาง ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ หมอชิต รังสิต เอกมัย สายใต้ใหม่
ในส่วนของกรมการขนส่งทางบก ดำเนินมาตรการจัดชุดผู้ตรวจการออกตรวจสอบควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วและเฝ้าระวังในกรณีที่พบว่าในบางพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5อยู่ในขั้นวิกฤต จัดชุดเฉพาะกิจให้คำแนะนำเชิงรุกเพื่อป้องกันการปล่อยควันดำของรถโดยสารไม่ประจำทาง ณ สถานประกอบการ และดำเนินการการลดจำนวนรถบรรทุกและรถโดยสารเข้าเขตเมืองชั้นใน โดยให้บริการตรวจสภาพรถ ณ สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า
กำชับให้การขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นด้วย เช่น นโยบายอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะกำกับดูแลผู้รับเหมาให้คืนพื้นผิวจราจรโดยเร็วที่สุดเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการปล่อย PM 2.5 จากรถยนต์ ส่วนในพื้นที่ที่ยังคงมีการก่อสร้างให้มีการกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับจ้าง โดยการให้ล้างทำความสะอาดถนน ทำความสะอาดล้อรถ และตรวจสอบเครื่องจักรให้มีสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะลดการปล่อย PM 2.5 ได้เช่นกัน และมอบหมายให้กรมทางหลวง บริหารจัดการจราจร ลดการติดขัด แก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบริเวณพื้นที่ด่านเก็บค่าผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) เข้มงวดผู้รับเหมาฉีดน้ำรักษาความสะอาดในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากกิจกรรมก่อสร้าง จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อดับไฟป่าและไฟไหม้สองข้างทางหลวง
ให้ ขสมก. และ บขส. เข้มงวดการตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารทุกคันก่อนนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน และดำเนินการจัดหารถโดยสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาให้บริการประชาชน ในส่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แก้ปัญหาสภาพการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ในสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่จัดให้มีมาตรการป้องกันฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัดและติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงที่สูงเพื่อลดฝุ่นหน้าด่านฯ โดยเครื่องจะทำงานอัตโนมัติเมื่อตรวจพบค่า PM 2.5 เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. และฉีดล้างทำความสะอาดบริเวณผิวจราจรและหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ
นอกจากนี้ จะกำชับให้ทุกหน่วยงานดูแลรักษารถราชการที่ใช้งานไม่ให้มีการปล่อยควันดำ โดยกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่ และให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมรายงานผลการปฏิบัติงานทุกๆ 15 วัน คือวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน เพื่อให้ปัญหามลพิษจากการจราจรและขนส่งลดลงและบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีอากาศที่บริสุทธิ์ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนในการบำรุงรักษารถของตนเองให้มีค่ามลพิษไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมเพื่อจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง เมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้การบูรณาการร่วมกันจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล