In Bangkok
กทม.เดินหน้าจัดห้องปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล แจ้งเตือนผ่านธงคุณภาพอากาศ
กรุงเทพฯ-นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นในโรงเรียนในสังกัด กทม.ว่า สนศ.ได้ดำเนินโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาลของโรงเรียนสังกัด กทม.โดยจัดห้องปลอดฝุ่น (Clean Air Shelter) ตามแนวทางคู่มือ “แนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 พ.ศ.2563 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำหรับกลุ่มเด็กอนุบาล อายุประมาณ 4-6 ปี ได้แก่ การปรับปรุงกายภาพของห้องเรียนโดยใช้งบประมาณซ่อมบำรุง 500,000 บาท/โรงเรียน การปรับปรุงสภาพกายภาพของห้องให้เป็นระบบปิดโดยการกรุช่องเปิด การจัดหาระบบปรับอากาศภายในห้อง โดยประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในลักษณะ PPP หรือ CSR การนำเครื่องปรับอากาศส่วนที่มีความจำเป็นน้อยมาใช้ในห้องปลอดฝุ่น ส่วนการจัดหาเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ จำนวน 1,743 เครื่อง สนศ.ได้รับประมาณปี 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างสรรหาผู้รับจ้าง
ขณะเดียวกัน สนศ.ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในโรงเรียนสังกัด กทม.ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 โดยให้โรงเรียนติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศทางเว็บไซต์ www.airbkk.com หรือแอปพลิเคชัน AirBKK ในเวลา 07.00 น. 11.00 น. และ 15.00 น. และในช่วงที่นักเรียนต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยแจ้งเตือนผ่านกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ได้แก่ ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 0-15.0 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดตั้งธงสีฟ้า หมายถึงคุณภาพอากาศดีมาก ทำกิจกรรมได้ตามปกติ ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 15.1-25.0 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีเขียว หมายถึงคุณภาพอากาศดี ทำกิจกรรมได้ตามปกติ กลุ่มเสี่ยง ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 25.1-37.5 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีเหลือง หมายถึงคุณภาพอากาศปานกลาง ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กลุ่มเสี่ยงสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 37.6-75.0 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีส้ม หมายถึงคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กลุ่มเสี่ยงสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ติดตั้งธงสีแดง หมายถึงคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกกลางแจ้งสวมอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM2.5 ทุกครั้ง กลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ในห้องที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ หากค่าฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6-75 มคก./ลบ. สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อนักเรียนให้ใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอน ได้แก่ ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 37.6-75 มคก./ลบ.ม. ผู้อำนวยการสถานศึกษาใช้ดุลพินิจปิดได้ ครั้งละไม่เกิน 3 วัน ผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 7 วัน หรือหากไม่ปิดการเรียนการสอนให้งดกิจกรรมกลางแจ้งและสวมหน้ากากขณะอยู่นอกอาคารเรียนและระหว่างเดินทาง พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่ Safe Zone ให้ทุกคนในโรงเรียน และดำเนินมาตรการป้องกันฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด หรือปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามความเหมาะสม และหากค่าฝุ่น PM2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ. สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ ครั้งละไม่เกิน 15 วัน เมื่อฝุ่น PM2.5 เกิน 2-5 เขต และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ โดยไม่จำกัดระยะเวลา เมื่อฝุ่น PM2.5 เกินมากกว่า 5 เขต