In Bangkok
ลงพื้นที่สวนสันติภาพตรวจความคืบหน้า แก้ปัญหาน้ำเน่าหลังลอยกระทง
กรุงเทพฯ-(6 ธ.ค.66) นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร Chief Sustainability Officer ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียหลังลอยกระทง โดยมีนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ณ สวนสันติภาพ เขตราชเทวี
ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า จากการที่กรุงเทพมหานครเปิดสวนสาธารณะ 34 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา สำรวจพบว่า สวนสันติภาพมีปริมาณกระทงทั้งหมด 6,800 ใบ ส่วนใหญ่มีการใช้กระทงขนมปัง ประมาณ 4,000 ใบ ซึ่งเปื่อยยุ่ยจมลงก้นบ่อ ละลายไปกับน้ำ ส่งผลกระทบกับสภาพน้ำทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ปลาตายจำนวนมาก ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้มีการนำน้ำเสียออกแล้ว และอยู่ระหว่างประสานสำนักการระบายน้ำเข้ามาดูดเลนในสระออก หลังจากนั้นจะกำจัดเชื้อที่เกิดจากการเน่าเสียในดินก้นสระจากเศษอินทรีย์ตกค้าง โดยตากดินพร้อมปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ด้วยปูนขาว ก่อนเติมน้ำใหม่เข้าไป สำหรับมาตรการจัดลอยกระทงในปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการจัดลอยกระทงในสถานที่มีบึงน้ำเป็นลักษณะบ่อปิด หรือมีพื้นที่จำกัด โดยรณรงค์ให้เลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป
จากการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจคุณภาพน้ำในสระสวนสันติภาพ พบว่า ที่ระดับผิวน้ำ มีค่าpH (การวัดค่าความเป็นกรดหรือด่าง) อยู่ที่ 7.3 ค่า BOD (ความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี ใช้ในการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและน้ำเสียเพื่อประเมินระดับมลพิษอินทรีย์ในน้ำ) อยู่ที่ 153 มิลลิกรัม/ลิตร สำหรับตัวอย่างที่ความลึก 1 เมตร มีค่าpH 7.1 ค่า BOD 138 มิลลิกรัม/ลิตร
ทั้งนี้ หากตรวจพบค่า pH มากกว่า 7 แสดงว่าสารชนิดนั้นมีฤทธิ์เป็นเบสหรือด่าง หากค่า pH นั้นมีค่าเท่ากับ 7 แสดงว่าสารชนิดนั้นเป็นกลาง ส่วนค่า BOD >= 100 mg/l ถือว่าเป็น น้ำเสีย