Think In Truth

เปิดตำนาน...พรหมเทศ'ब्रह्मदेश'อยู่ที่ได? โดย : ฟอนต์ สีดำ



พรหมเทศ "ब्रह्मदेश" Brahmadesha (ระบบ ITRANS) , Brahmadeśa (ระบบ ISO 15919) ซึ่งจะอ่านออกเสียงแตกต่างกันออกไปตามการใช้สำเนียงพูด แต่ก็หมายถึง “พรหมเทศ” ซึ่งเป็นดินแดนสถิตย์ของพระพรหม โดยความเชื่อในศาสนาฮินดู เชื่อว่าพระพรหมเป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์ แต่ในความเชื่อของชาวสยามเทศเชื่อว่าพระพรหมเป็นเทพสูงสุดของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาพราหมณ์สยาม ที่ไม่เชื่อในจิตวิญญาณที่หมายถึงผี  แต่เชื่อในเรื่องจิตวิญญาณที่หมายถึงปัญญา(soul is wisdom) ดังนั้น กลุ่มชนที่นับถือศาสนาพราหมณ์สยามจึงชอบทำตัวสันโดด เพื่อบำเพ็ญเพียร ปฏิบัติ เพื่อให้อยู่เหนือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มักแสวงหาเหตุผลเพื่อทำความเข้าใจและนิ่งเฉยต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อีกทั้งยังหาวิธีการที่จะอยู่เหนือธรรมชาติ จึงเกิดไสยเวทย์เกิดขึ้นมากมายในกลุ่มพราหมณ์สยาม ซึ่งกลุ่มความเชื่อเกี่ยวพระพรหมนี้ จึงถูกเรียกว่า “ขอม”

ในความเชื่อของชาวอินดีย ตามภาษาสันสกฤตเชื่อว่า พรหมเทศ "ब्रह्मदेश" อยู่ทางด้านตะวันออกของอินเดีย คือ ประเทศพม่า ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ชาวอินเดียเมื่อก่อนนั้น ยังคงสื่อความเข้าใจเรื่องพรหมเทศให้กับชาวอินเดียไม่ถูกต้องนัก เพราะพื้นที่ดินแดนที่เข้าใจว่าเป็นพรหมเทศนั้น ไม่มีสถานที่ไดที่แสดงออกถึงการเคารพนับถือพระพรหมเลยแม้แต่สถานที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นชาวเมียน(พม่า) มอญ กะเหลี่ยง ฉาน อาระกัน ม้ง และอื่นๆ ไม่มีรูปเคารพหรือสัญลักษณ์ในการแสดงออกถึงการนับถือพระพรหม จึงพอจะสรุปได้ว่า ที่ชาวอินเดียเชื่อว่า พรหมเทศ คือประเทศพม่า เป็นความเข้าใจผิด หรืออาจจะเบี่ยงเบนประเด็นออกจากพื้นที่ที่นับถือศาสนาพราหมสยามมาก่อนโดยชาวฮินดูได้รุกรานและยึดครองอยู่

ถ้าหากวิเคราะห์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในการเดินทางของชาวอินเดีย ที่เดินทางทางทะเลจากประเทศอินเดีย เข้ามายังชวา ภาคใต้ของประเทศไทย และมาตั้งรกรากที่เวียดนามเป็นอาณาจักรจามปา แล้วค่อยๆ แผ่อิทธิพลเข้ามายังเสียมราฐ(เมืองพระนคร) แล้วมาพบเมืองขนาดใหญ่ที่เรียกว่า พรหมเทศ แล้วกลับไปสื่อสารให้กับชาวอินเดียรับรู้ ว่า “พรหมเทศ” อยู่ทางตะวันออกของอินเดีย ตามการสื่อความหมายนี้ถูกต้อง

“พรหมเทศ” จึงมีความเป็นไปได้ทว่า คือ เมื่อพระนคร หรือองโค นั่นเอง จากหลักฐานที่ผนังปราสาทนครวัด มีการแกะสลักภาพนูนต่ำพระพรหม ให้เห็นอย่างเด่นชัด นั่นหมายความว่า นครวัดเคยเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณสยาม(ขอม)มาก่อน

สาเหตุที่ “พรหมเทศ” ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “อินทปัต” ถ้าสามารถยอมรับได้ว่า นิทานก็เป็นการบอกเล่าเหมือนกับลายลักษณ์อักษร ที่เขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวได้ ก็จะเอ่ยถึงตำนาน สังข์สินไซ หรือ สังข์ศิลป์ไชย เป็นวรรณคดีชิ้นเอกเรื่องหนึ่งในไทยและลาว (ล้านช้างหรือลาวในปัจจุบันเรียก สินไซ) สังข์ศิลป์ชัย เป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมา ได้เรียบเรียงและบันทึกบทประพันธ์เป็นบทผญาขึ้นโดยพระเจ้าสุวรรณปางคำ หรือที่รู้จักในพระนาม เจ้าปางคำ ปฐมกษัตริย์แห่งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) ในราว พ.ศ. 2192 ทุกถ้อยคำที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้มีความหมายไพเราะ แม้ว่าในบทที่แสดงความโกรธแค้นก็ใช้ถ้อยคำสุภาพไม่หยาบคาย และผู้รจนาหนังสือเล่นนี้ยังเป็นปราชญ์ที่มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแตกฉานในภาษาบาลี มีความรู้ภาษาสันสกฤตและราชประเพณีเป็นอย่างดี ภาคเหนือรู้จักในชื่อ สังสิงธนูไชย ภาคอีสานรู้จักในชื่อ สินไซ ภาคกลางเเละใต้รู้จักในชื่อ สังข์ศิลป์ชัย และศิลปินทางภาคอีสานยังได้เขียนบทกลอนลำ และบทแสดงหมอลำเพื่อสืบทอดเรื่องราวของตำนาน “สังข์ศิลป์ชัย” มาอย่างยาวนาน จนวัฒนธรรมทางตะวันตกไหลบ่าเข้ามาครอบงำประเทศไทยอยู่ช่วงหนึ่ง การแสดงหมอลำสินไซ ทางภาคอีสานจึงค่อยๆ หายไป โดยไม่มีการสืบทอด

เรื่องย่อตำนานสังข์ศิลป์ชัย

ที่นครเปงจาล พระยากุศราช เป็นเจ้าเมือง มีน้องสาวรูปงามชื่อนางสุมุณฑา วันหนึ่งนางไปชมสวน มียักษ์กุมภัณฑ์มาอุ้มเอานางไปยังเมืองอโนราช แล้วแต่งตั้งเป็นมเหสี พระยากุศราชเสียใจมาก จึงออกบวชติดตามไปถึงเมืองจำปา และได้พบธิดาทั้ง 7 ของนันทะเศรษฐี จึงสึกและขอนางเป็นมเหสี พระยากุศราชเรียกมเหสีทั้ง 7 มา ให้ทุกนางตั้งจิตอธิษฐานขอเอาลูกชายผู้มีบุญฤทธิ์มาเกิด เพื่อจะได้ติดตามเอานางสุมุณฑากลับคืนมา

พระอินทร์ได้ส่งเทพ 3 องค์มาเกิดในท้องนางทั้งสอง องค์หนึ่งเกิดเป็นสีโห (หัวเป็นช้าง) เกิดในท้องเมียหลวง องค์สองศิลป์ชัย (เป็นคน) และสังข์ทอง (หอยสังข์) เกิดในท้องเมียน้อย เมียหกคนได้คนสามัญมาเกิด โหรหลวงได้ทำนายว่าลูกที่เกิดจากเมียน้อยและเมียหลวงจะเป็นผู้มีบุญ คำทำนายของโหร ไม่เป็นที่พอใจของมเหสีทั้งหก มเหสีทั้งหกจึงว่าจ้างให้โหรทำนายใหม่ โหรเห็นแก่อามิสสินจ้างจึงทำนายใหม่ว่าลูกที่เกิดจากมเหสีทั้ง 6 มีฤทธิ์เดชมาก ลูกที่เกิดจากนางจันทาและนางลุน เป็นทั้งคนทั้งสัตว์ เกิดมาอาภัพอัปปรีย์และจัญไร

เมื่อประสูติ พระยากุศราชจึงขับไล่นางจันทา นางลุน พร้อมพระโอรสออกจากเมือง พระอินทร์เล็งเห็นความทุกข์ยาก จึงมาเนรมิตเมืองไว้ต้อนรับให้ได้อยู่อาศัย ยังเมืองนครศิลป์แห่งนี้ พระยากุศราชเมื่อขับไล่เมียแล้วให้โอรสทั้งหกไปตามเอาน้องสาวของตนคืนจากยักษ์กุมภัณฑ์ โอรสทั้งหกหลงทางมายังเมืองนครศิลป์ และได้โกหกศิลป์ชัย ให้ส่งสัตว์ป่าเข้าเมืองด้วยเพื่อเป็นพยานว่าพวกของตนได้พบกับศิลป์ชัยแล้ว เมื่อถึงเมืองโอรสทั้งหกก็โอ้อวดกับบิดาว่า พวกเขามีอำนาจเรียกสัตว์ทุกชนิดเข้าเมืองได้ ทุกคนก็หลงเชื่อว่าโอรสทั้งหกมีอำนาจ

เมื่อบิดาสั่งให้โอรสทั้งหกติดตามหาอา พวกเขาก็มาโกหกศิลป์ชัยว่าบิดาสั่งให้ศิลป์ชัยไปตามหาอา ถ้าได้อาคืน ความผิดที่แล้วมาพ่อจะยกโทษให้ ศิลป์ชัยและน้องไปถึงด่านงูซวง กุมารทั้งหกไม่กล้าเดินทางต่อไป ให้สังข์ทองกับศิลป์ชัยเดินทางต่อไปรบกับยักษ์ฆ่ายักษ์ตาย เอาอาคืนมาได้ เมื่อถึงแม่น้ำใหญ่ กุมารทั้งหกผลักศิลป์ชัยตกเหว และบอกอาว่าศิลป์ชัยตกน้ำตาย อาไม่เชื่อจึงเอาผ้าสะใบ ปิ่นเกล้าและช้องผมเสี่ยงทายไว้ เมื่อกลับมาถึงเมือง พระยากุศราชได้จัดงานต้อนรับ และทราบความจริงว่ากุมารทั้งหกเป็นคนโกหกมาโดยตลอดจึงถูกลงโทษขังคุกพร้อมมารดาของตน

พระยากุศราชพร้อมน้องสาวเชิญเอานางจันทาและนางลุน พร้อมศิลป์ชัย สีโหและสังข์ทองเข้ามาในเมือง อภิเษกศิลป์ชัยให้เป็นเจ้าเมืองเปงจาล ต่อมาศิลป์ชัยได้ปล่อยให้คนทั้งหมดออกจากคุก ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบมา ส่วนยักษ์กุมภัณฑ์นั้น พระยาเวสสุวัณได้ชุบชีวิตคืนชีพขึ้นมา คิดถึงนางสุมุณฑาผู้เป็นมเหสี จึงไปสู่ขอนางจากศิลป์ชัย และทั้งสองอยู่เป็นสุขตราบสิ้นอายุ

ภาพแห่งความเชื่อในตำนาน คือ นครเปงจาล เป็นดินแดนที่นับถือพระอินทร์ หรือศาสนาผี เมืองอโนราชที่มียักษ์กุมภัณฑ์เป็นผู้ปกครองนั้น เป็นดินแดนขอม หรือดินแดนที่นับถือศาสนาพราหมณ์สยาม ที่เคารพพระพรหม ซึ่งยักษย์มีลักษณะบ่งบอกถึงความโหดเหี้ยมกล้าหาญ ชอบปฏิบัติตนอยู่เหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประพันธ์ของปราชญ์โบราณ ที่ระบุถึงขอม หรือผู้นับถือศาสนาพราหมณ์สยาม เส้นทางของตำนาน “สังข์ศิลป์ชัย” เป็นการเดินทางจากตำแหน่งเมืองเปงจาล หรือจังหวัดหนองบัวลำพู มายังเมืองอโนราช คือนครธม เมืองจำปา คือการเอ่ยถึงปราสาทวัดพู ในสะวันเขต และแหล่งงูซวง คือจังหวัดอุบลราชธาณี

หากจะตีความตามตำนาน “สังข์ศิลป์ชัย” แล้ว เมืองอโนราช ซึ่งปกครองโดยยักษ์กุมภัณฑ์ นั่นหมายถึงเมืองอโนราชนับถือศาสนาพราหมณ์สยาม หรือเป็นเมืองพรหมเทศ หรือจะเรียกว่าอาณาจักรขอม เป็นดินแดนพรหมเทศ ก็ว่าได้

เมื่อสังข์ศิลป์ชัย เป็นผู้เอาชนะยักษ์กุมภัณฑ์ได้ และฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ตาย โดยที่น้าสาวไม่ขอกลับไปยังเมืองเปงจาล สังข์ศิลป์ชัยจึงยกเมืองอโนราชให้น้าสาวปกครอง นั่นหมายความว่า เมืองนครธมถูกปกครองโดยกษัตริย์ผู้หญิงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยพระนางโสมาราชินี การที่เมืองอโนราชถูกยึดและปกครองโดยฝ่ายพระอินทร์หรือศาสนาผี เมืองอโนราชจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอินทปัต(อินทรปัตย์ = เมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระอินทร์) ซึ่งก็สอดคล้องกับแผนที่โบราณ ที่ระบุบริเวณนั้นคือ อินทรปุระ และกษัตริย์ขอมก็มีชื่อเป็นราชวงศ์พระอินทร์เกือบทุกราชวงศ์ เช่น มเหนทรปุระ , มหิธรปุระ เป็นต้น สิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นพรหมเทศ คือการต่อชื่อท้ายกษัตริย์ที่ใช้คำว่า “วรมันต์” ซึ่งแปลว่า “จอมขมังเวทย์” เพราะศาสนาพราหมณ์สยาม ศึกษา และฝึกฝนด้านไสยเวทย์ จนมีความเก่งกล้า สามารถเหาะเหินเดินอากศได้ ซึ่งก็มีบันทึกในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้พระสงฆ์แสดงปาฏิหารย์

พรหมเทศ "ब्रह्मदेश" Brahmadesha (ระบบ ITRANS) , Brahmadeśa (ระบบ ISO 15919) คือเมืองพระนคร หรือนครธม ซึ่งพอที่จะมีน้ำหนักตามเหตุผลดังกล่าว อีกทั้งยังมีหลักฐานภาพแกะสลักพระพักตร์บนปราสาทหิน ที่มีพระพักตร์สี่ด้ายตามทิศ ตะวันออก ตะวันตก เหือ และทิศใต้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมพรหมวิหารสี่ ที่เรียกกันว่า “พรหมสี่หน้า” แต่ถึงกระนั้นนักโบราณคดีส่วนใหญ่ก็มักจะตีความว่าเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นั่นก็ว่ากันตามหลักฐานและความสอดคล้องที่ฝรั่งหัวขโมยพยายามที่จะโยงเรื่องราวต่างๆ ให้สอดคล้องกับความยิ่งใหญ่ของประเทศราชที่ประเทศตนมีอิทธิพลครอบงำอยู่ ซึ่งในฐานะของคนในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่เกิด และถูกบ่มเพาะมาจากวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงการจัดระบบข้อมูลเพื่อการพิสูจน์ความจริง มันก็จำเป็นต้องหาข้อมูลความรู้ที่เป็นจริง เพื่อยืนยันว่า ประวัติศาสตร์ของชนชาติสุวรรณภูมิ ยังมีความจริงบางอย่างที่ยังไม่ถูกค้นพบ หรือค้นพบแล้วยังไม่เปิดเผย จึงอยากเชิญชวนคนที่สนใจในเรื่องนี้ได้ช่วยกันค้นหาตัวตนของความเป็นไทยว่าเป็นมาอย่างไรที่แม้จริง ไม่ใช้นักประวัติศาสตร์ต่างประเทศที่ไม่เคยซึมซับวิถีชีวิต และวัฒนธรรม จะเข้าใจความเป็นทางสังคมของคนในดินแดนสุวรรณภูมิเท่ากับคนสุวรรณภูมิ ในคราวต่อไปจะได้เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงเมืองพระนครหลังสิ้นยุคกษัตริย์ผู้หญิง เพื่อสะท้อนภาพเชื่อมโยงกับปัจจุบัน และจะได้ทำความเข้าใจ สยำ เรียบ(สยามลุ่ม) และ สยำ กุก (สยามโคก) ต่อไป