Think In Truth

จาก...'กรุงรัตนโกสินทร์อินท์ อโยธยา' สู่...'วิษณุกรรมประสิทธิ์' โดย: ฟอนต์ สีดำ



ใกล้ถึงวันที่ 21 เมษายน ของทุกปีก็มักทำให้นึกถึงศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร และอยากจะเดินทางไปสัการะเหมือนที่ผ่านมา เมื่อหลังสงกรานต์ ได้เดินทางกลับจากบ้านเกิดแล้วก็จะเดินทางกลับมาที่ทำงาน และถึงวันที่ 21 เมษายน ก็จะเดินทางไปสักราระศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ที่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง

การไปไหว้ศาลหลักเมืองมีความเชื่อว่าเพื่อเสริมสิริมงคล ต่อชะตาอายุ ใครตกอายุที่เคราะห์ จะได้หายเจ็บหายป่วย ไร้โรคภัยไข้เจ็บ มีความสุข ความเจริญนั่นเอง ศาลหลักเมือง เป็นสถานที่สักการะซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสักการะเสาหลักเมือง โดยความสำคัญของเสาหลักเมืองนั้นมีความเชื่อมาตั้งแต่ในอดีต โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะว่าเสาหลักเมืองจะเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปกป้องคุ้มครองเมืองนั้นๆ

ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หรือเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร” สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญประชาชนชาวไทย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น

ในปีพุทธศักราช 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหานครตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชพระหลักเมือง ณ วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2529

รวมทั้งได้สร้างศาลเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นอีกด้วย ศาลหลักเมืองมีพื้นที่อยู่ในอาณาบริเวณของกระทรวงกลาโหม โดยเริ่มแรกในปี 2480 กระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงเป็นผู้ดูแล เมื่อกรมเชื้อเพลิงถูกยุบภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงกลาโหมจึงมอบให้ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้ดูแลตั้งแต่ปี 2491 โดยองค์การฯ ได้กำหนดให้สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานกิจการพิเศษขององค์การฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบศาลหลักเมือง รวมทั้งอาคารและบริเวณอันเป็นสถานที่สำคัญของชาติ การบูรณปฏิสังขรณ์ ดำเนินกิจการเพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้มาสักการะ

ฝังเสาหลักเมืองเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 นั้น ได้เกิดอวมงคลนิมิตขึ้น คือเมื่อถึงมหาพิชัยฤกษ์อัญเชิญเสาลงสู่หลุม ปรากฏว่ามีงูเล็ก 4 ตัวเลื้อยลงหลุมในขณะเคลื่อนเสา จึงจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลย โดยปล่อยเสาลงหลุมและกลบงูทั้ง 4 ตัวตายอยู่ภายในก้นหลุม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทำนายชะตาเมืองว่า จะอยู่ในเกณฑ์ร้ายนับจากวันยกเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน จึงสิ้นพระเคราะห์ ทั้งยังทรงทำนายว่า จักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปเป็นเวลา 150 ปี ชะตาแผ่นดินที่ร้ายถึงเจ็ดปีเศษนั้น เป็นช่วงที่ไทยติดพันศึกพม่าจนถึงศึกเก้าทัพ ซึ่งสิ้นสุดการพันตูหลังครบห้วงเวลาดังกล่าว ส่วนคำทำนายว่าจักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไป 150 ปีนั้น ไปครบเอาปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี แต่กรณีการดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปได้ 150 ปี ไม่เป็นไปตามคำนาย เพียงแต่เป็นระบอบการปกครองจากระบอบสัมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทางโหราจารย์ได้ให้ความเห็นว่า คงเนื่องด้วยพระบารมีรัชกาลที่ 4 ที่ทรงแก้อาถรรพ์ด้วยการตั้งเสาหลักเมืองและวางดวงชะตาเมืองขึ้นใหม่ พระองค์ทรงตรวจดวงชะตาแล้วพบว่าเป็นอริกับลักคณาดวงเมือง ประกอบกับเสาหลักเมืองต้นเดิมชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นใหม่โดยมีแกนเป็นไม้สัก ประกับด้วยไม่ชัยพฤกษ์ ส่วนยอดเป็ยทรงมันฑ์ และให้ทำพิธีในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395 นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ จึงมีสองต้น เป็นต้นมา

ในการตั้งเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ โหรหลวงได้ผู้ชะตาดวงเมืองถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า โหรหลวงได้ถวายดวงเมืองไว้สองแบบคือ ดวงมืองแบบที่หนึ่ง บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีความวุ่นวาย แต่จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่บ้านเมืองจะตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ส่วนอีกดวงเมืองหนึ่งนั้น ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทะว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป ประรากฏว่าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นได้ทรงเลือกดวงเมืองแบบที่สอง พระองค์คงจะทรงมีความเห็นว่า แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองมากเพียงใด ถ้าบ้านเมืองจะต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ก็จะไม่มีความหมายอะไร เมื่อสิ้นความเป็นไทย เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่ประเทศต่างๆ รอบประเทศไทย ได้ตกเป็นประเทศราชของมหาอำนาจโดยหมดสิ้น แม้แต่ประเทศใหญ่อย่างอินเดียก็ตกเป็นประเทศราชของอังกฤษ มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่รอดจากการตกเป็นเมืองขึ้น

เรื่องการตั้งเสาหลักเมือง มักจะเอาคนมาผังทั้งเป็นไปกับการตั้งเสาหลักเมืองด้วย “อิน จัน มั่น คง” คือพื้นฐานความเชื่อการสร้างหลักเมืองในประเทศไทย ผ่านการประกอบพิธีที่ 4 ประตูเมือง โดยกำหนดให้นำคนชื่อ อิน จัน มั่น คง มาฝังลงในหลุม เพราะเชื่อกันว่าทั้ง 4 คน เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะไม่ไปไหน แต่จะคอยปกปักรักษาบ้านเมือง จากศัตรู และสิ่งเลวร้ายต่างๆ ลักษณะของ 4 คน ตามที่โหรกำหนด คือ ไม่ใช่นักโทษประหาร ไม่สักยันต์ ไม่เจาะหู และมีเวลาตกฟากตามที่กำหนด

ถ้าจะศึกษาจากประวัติการตั้งเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานครแล้วจะพบว่ามีการกำหนดชื่อกรุงเทพมหานครเป็นสองแนว ดังนี้

แนวที่ 1 คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชทานนามเมืองว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หลังจากนั้นจึงได้ตั้งชื่อมาใหม่คือ “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถาน อมรพิมาน อวตารสถิต สักกะ ทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์” ซึ่งแปลว่า "เมืองของเทวดา มหานครอันเป็นอมตะ สง่างามด้วยแก้ว 9 ประการ และเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เมืองที่มีพระราชวังหลายแห่ง ดุจเป็นวิมานของเทวดา ซึ่งพระวิษณุกรรมสร้างขึ้นตามบัญชาของพระอินทร์" เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงตั้งเสาหลักเมืองใหม่ และได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็น “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถาน อมรพิมาน อวตารสถิต สักกะ ทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์”

แนวทางที่ 2 เป็นการได้รับพระราชทานนามเมืองจากพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถาน อมรพิมาน อวตารสถิต สักกะ ทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์” และรัชกาลที่ 4 ทรงได้เปลี่ยนคำว่าบวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดชื่อเมืองทั้งแนวที่ 1 หรือแนวที่ 2 ที่แน่ๆ นั้น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้กับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีของพราหมณ์ก่อนจะสร้างเมืองจะต้องทำ “พิธียกเสาหลักเมือง” ในชัยภูมิที่สำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง มีพิธียกเสาขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 นาฬิกา

พราหมณ์ที่เอ่ยถึงเป็นพราหมณ์ในความเชื่อของศาสนาฮินดู ซึ่งมีความเชื่อและเคารพต่อพระวิษณุ หรือที่นักวิชาการไทยได้จัดจำแนกไว้ในไวสน็อกนิกาย นี่นคือที่มาของ “วิษณุกรรมประสิทธิ์” ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ ถูกสร้างมาจากกษัตริย์ซึ่งในทางความเชื่อของคนไทยนั้นเป็นสมุติเทพ ในนามพระพรหม ซึ่งเป็นองค์เทพสูงสุดของเหล่าคณะพราหมณ์สยามหรือปุโลหิต ในนามของกษัตริย์ที่เป็นสมมติเทพนั้นนามหนึ่งคือพระรามซึ่งจะมีเสียงพร้องกับคำว่าพราหมณ์ ถนนต่างๆ ในกรุงเทพฯ จึงมีชื่อถนนพระรามอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ดังนั้นกรุงเทพฯไม่ได้สร้างจากชาวแขกมทิฬ อินเดียแต่อย่างได ถ้าว่ากันไปแล้ว กรุงเทพฯ เจริญขึ้นมาได้ เพราะชนหลายกลุ่ม และกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมากที่สุด คือ กลุ่มคนจีนพ้นทะเล หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งคือคนไทยเชื้อสายจีน แต่เทพเจ้าที่เขาเคารพอยู่ที่ไหน?. คนมอญที่อยู่แถวบางขุนเทียน แถวพระประแดง ก็มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างบ้านเมืองให้เจริญสิ่งที่เขาเคารพนับถืออยู่ที่ไหน?. แม้แต่คนลาวที่เขาออกแรงขุดคลองจากคลองตันไปจนถึงฉะเชิงเทรา แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเคารพไม่ได้มีส่วนในการสร้างกรุงเทพฯหรือ?...รวมกระทั่งชาวคริสต์ ชาวอิสลาม ที่ตั้งรกรากอยู่รายล้อมกรุงเทพ ประหนึ่งว่าเขาเป็นเพียงผู้อาศัยที่ไม่มีส่วนในการสร้างกรุงเทพฯ ถ้าจะมี “วิษณุกรรมประสิทธิ์” ก็ควรต้องมีเทพในความเชื่ออื่นด้วย หรือจะไม่มีก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติกับเทพองค์อื่นๆ ที่ตั้งรกรากให้ความเคารพศัทธาต่อชาติพันธุ์ที่เคารพยกย่องเสมอกัน การมองประเด็นในเรื่องนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความขัดแย้งไดๆ หากแต่มองในฐานะที่เป็นคนไทย ที่เราอยู่ในแผ่นดินเดียวกันที่มีความหลากหลาย อะไรที่เสี่ยงต่อการกระทบทางความเชื่อที่ส่งผลต่อความรู้สึกของคนไทยด้วยกัน ก็ขอเป็นสปอร์ตไลต์ได้ส่องประเด็นให้เห็น เพื่อการแก้ไขต่อไป