H&B News

'ไอเป็นเลือด'เป็นเรื่องร้ายแรงถึงตายได้   โดยผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย



ไอเป็นเลือด อาจเป็นเรื่องร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้  ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

ภาวะไอเป็นเลือด อาจเป็นเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรง อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยละเอียดเสียก่อน  อาการไอเป็นเลือดนั้นมักเกิดจากที่เส้นเลือดที่เลี้ยงบริเวณหลอดลม มีอาการอักเสบและแตก โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณของเลือดที่ออกมา โดยส่วนมากมักเริ่มมาจากมีเสมหะปนเลือดจนกระทั่งออกมาเป็นแก้ว หรือมีปริมาณมาก ๆ จนน่าตกใจ ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่มีภาวะไอเป็นเลือดและมีเลือดออกมากกว่า 200 มิลลิตรต่อครั้ง ถือว่ามีความเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสสำลักและติดเชื้อได้มากขึ้น

ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้องจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดอาการไอ ปอดติดเชื้อ จนไปถึง ไอเป็นเลือดได้ นอกจากปัญหาเรื่องฝุ่น สาเหตุของโรคนั้นอาจเป็นได้จาก หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดติดเชื้อ หรือ วัณโรคปอด จนไปถึงมะเร็งปอด โดยหน้าที่ของแพทย์นั้น คงต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ฉะนั้นการวินิจฉัยต้องเริ่มตั้งแต่การซักประวัติ จนไปถึงการทำเอกซเรย์ปอดและการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อรักษาให้ตรงจุดได้

การรักษาโรคไอเป็นเลือดนั้น โดยส่วนมากทำได้เพียงแค่ประคับประคอง เพื่อให้เส้นเลือดที่มีอาการอักเสบหยุดไปเอง แต่อย่างไรก็ตามในรายที่มีอาการไอเป็นเลือดที่รุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องส่องกล้องไปหยุด (Bronchoscope) หรือทำการอุดหลอดเลือด (embolization) ในกรณีที่อุดหลอดเลือดไม่สำเร็จ การผ่าตัดจะเข้ามามีบทบาทในการรักษาอาการไอเป็นเลือด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาสมัยใหม่ในปัจจุบัน

การพัฒนาของเทคนิคการผ่าตัดปอดปัจจุบันนั้น มีหลากหลายรูปแบบ ถึงแม้หลักการจะคล้าย ๆ กัน แต่อุปกรณ์ที่ใช้หรือเทคนิคในการผ่าตัดจะมีความแตกต่างกัน การผ่าตัดแบบเปิดมักจะใช้เครื่องขนาดที่มือจับได้ มีบาดแผลขนาดใหญ่ ต้องใช้เครื่องไปถ่างขยายแผลบริเวณซี่โครงเพื่อเข้าไปทำการผ่าตัดปอด แต่การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ศัลยแพทย์จะมีแต่เครื่องมือที่ใส่เข้าไประหว่างช่องซี่โครงแทน  ขอบเขตการให้บริการการผ่าตัดผ่านกล้องหรือที่เรียกว่า (VATS) Video assisted thoracoscopic surgery   ถึงแม้การผ่าตัดส่องกล้องปอดจะค่อนข้างมีความหลากหลาย  โดยเทคนิคเริ่มตั้งแต่การผ่าตัด แบบ 3-4 จุดจนมาถึงปัจจุบันที่มีการทำผ่าตัดส่องกล้องปอดโดยเทคโนโลยีขั้นสูงแบบจุดเดียวหรือที่เรียกว่า Uniportal video assisted thoracoscopic surgery คือการผ่าตัดผ่านกล้อง ขนาด 3.5 เซนติเมตร แบบจุดเดียว โดยอุปกรณ์ทั้งหมด จะเข้าไปอยู่ในช่องเดียว และมองผ่านทางจอวีดีทัศน์ขณะทำการผ่าตัด โดยเป้าหมายนี้ทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเจาะผ่านหลายจุดและทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายให้น้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องพักฟื้นเป็นเวลานาน ซึ่งผู้ใดก็ตามที่มีอาการไอเป็นเลือด หรือ กำลังเข้ารับการผ่าตัดปอด  สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่เพจเฟซบุ๊กผ่าตัดปอดโดยนายแพทย์ศิระหรือ Lineid:@lungsurgeryth