Biz news

พช.หนุนเยาวชนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงาน พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาOTOPสู่สากล



กรุงเทพฯ-กรมการพัฒนาชุมชน สนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงานพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ OTOP สู่สากล จ.อุดรธานี

นายภควัตร คำพวง พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดกิจกรรมการการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล ภายใต้โครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล จุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 22-23 มิถุนายน 2567 ณ ห้องทุ่งศรีเมือง 1 ชั้น 3 โรงแรม เซ็นทารา จ.อุดรธานี โดยมี นางสาวริตยา รอดนิ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการฯ

โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย ดร.ศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ THEATRE ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  นายตะวัน ก้อนแก้ว Fashion features editor นิตยสารแฟชั่นโว้ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณพงศ หอมแย้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์ตราสัญลักษณ์แบรนด์และความสำคัญของการสร้างแบรนด์ อาจารย์ ดร.ณัฐวรรธน์ วิวัฒน์กิจภูวดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจารย์ ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดช่องทางการจัดจำหน่ายและการประชาสัมพันธ์ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ฯ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กรมการพัฒนาชุมชน ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชน เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งเน้นให้เยาวชนมีบทบาท และมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยดำเนินการเพิ่มทักษะการเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเยาวชน ร่วมกันอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาทำให้เกิดการตระหนัก ถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะต้องอนุรักษ์ไว้ รวมทั้งมีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว  ซึ่งโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ ให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young OTOP) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด 2) เพื่อต่อยอดภูมิปัญญายกระดับการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ Young OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีอัตลักษณ์เฉพาะ สร้างสรรค์และทันสมัยสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล 3) เพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ Young OTOP โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วยเยาวชน Young OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้ของตกแต่ง ของที่ระลึก ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯรวมทั้งสิ้น 109 ราย จาก 45 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 11 จังหวัด 30 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14 จังหวัด 32 ราย ภาคกลาง จำนวน 11 จังหวัด 22 ราย และภาคใต้ จำนวน 8 จังหวัด 25 ราย ซึ่งมีกิจกรรมที่ดำเนินการตามโครงการ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล โดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ จัดดำเนินการ จำนวน 4 จุดดำเนินการ ดังนี้

-           จุดดำเนินการที่ 1 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1 – 2 มิถุนายน 2567

-           จุดดำเนินการที่ 2 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 11 - 12 มิถุนายน 2567

-           จุดดำเนินการที่ 3 ภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 18 - 19 มิถุนายน 2567

-           จุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2567

กิจกรรมที่ 2 การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล โดยมีการร่างต้นแบบผลิตภัณฑ์ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ Young OTOP ที่เข้าร่วมโครงการ และผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์จำนวนไม่น้อยกว่า รายละ 1 ชิ้นงาน

กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมการประกวดผลงาน Young OTOP สู่สากล/กิจกรรมทดสอบตลาด/การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการประชาสัมพันธ์ และผู้ที่ชนะเลิศ การประกวดผลงานฯ จะได้รับรางวัลต้นกล้านารีรัตน รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้า ลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

การจัดดำเนินงานโครงการฯ นี้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นการต่อยอดให้เยาวชน Young OTOP ได้รับการพัฒนาศักยภาพเป็นผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม โดยดึงเสน่ห์เรื่องราว ผลิตภัณฑ์ มาสร้างสรรค์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความร่วมสมัยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า  และสามารถแข่งขันในช่องทางการตลาดได้ทั้ง Offline และ Online ซึ่งจะทำให้ Young OTOP มีอาชีพ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ตลอดจนวางรากฐานให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่า เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมและต่อยอดการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น    และในส่วนของกลุ่มที่กรมการพัฒนาชุมชนได้พัฒนาแล้วยังคงจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป