In News

พลังงาน-ก.อุตฯร่วมหนุนพลังงานสะอาด ดันนิคมอุตฯเอสเอ็มอีช่วยธุรกิจรายย่อย



กรุงเทพฯ-​“พีระพันธุ์” ถก “เอกนัฏ” ประสานความร่วมมือ 2 กระทรวง ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ดัน“นิคมฯSME”ช่วยรายย่อย ขจัดกฎเกณฑ์อุปสรรค เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เชื่อมั่นจะ”ปฏิรูปอุตสาหกรรม“จนสำเร็จ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอน สร้างความสะดวก คล่องตัวให้กับประชาชน ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เราต้องส่งเสริม สร้างโอกาส ให้ความสะดวก เติมทุนหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับธุรกิจให้เติบโต สร้างงานสร้างรายได้ เพื่อให้สามารถเดินต่อและแข่งขันได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา นายใบน้อย สุวรรณชาตรี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายวีระพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ยังกล่าวต่อว่า ยังมีแนวคิดที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมเพื่อธุรกิจขนาดเล็กขึ้น (นิคมฯ SME) เพื่อช่วยลดต้นทุน สามารถส่งต่อวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้ ทำให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีทำได้สะดวกขึ้น รวมทั้งการเร่งแก้กฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซี่งเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสีเขียว โดยได้มีการแก้กฎหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จากเดิมที่กำหนดว่าหากมีกำลังผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต โดยการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อยกระดับพลังงานไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ตอบสนองกติกาสากล ทั้งนี้ คาดว่าการปลดล็อกกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ตอบโจทย์การประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยการปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา พร้อมวางแนวทางในการปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายแก้ช่องโหว่ในการส่งเสริมการประกอบการที่ดี การมีระบบ Digital แบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคต สร้างความยั่งยืนและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบการ ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเพิ่มเครื่องมือหนึ่งในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม