In News
ผอ.ศปช.ย้ำกทม.น้ำไม่ท่วมเหมือนปี54แน่ สั่งทำ2โมเดลน้ำท่วม'เชียงราย-เชียงใหม่'
กรุงเทพฯ-“บิ๊กอ้วน” ผอ.ศปช. สั่งทำ 2 โมเดล เชียงรายและเชียงใหม่ หลังเห็นรูปแบบภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน พร้อมมอบหมายตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข ระยะ สั้น กลาง ยาว ภายใน 3 เดือน ย้ำ “กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 แน่นอน”
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ครั้งที่ 3/2567 เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 8 ต.ค.67 มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช. เป็นประธานการประชุม โดยมี ศปช. ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ ที่ประชุมได้วิเคราะห์สถานการณ์พร้อมเห็นพ้องกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ใน 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การจัดทำโมเดลการแก้ปัญหา ออกเป็น 2 โมเดล คือ ที่จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากทั้ง 2 พื้นที่มีสถานการณ์แตกต่างกัน โดยที่ จ. เชียงรายเกิดจากน้ำโคลนไหลหลากมาอย่างรุนแรงมาก ส่วนที่ จ. เชียงใหม่ เกิดฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำมาก น้ำล้นตลิ่ง และหลากเข้าท่วมเป็นวงกว้าง จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการที่แตกต่างกันไป ประเด็นที่ 2 คือ การระบบป้องกันเมืองด้วยเขื่อนขนาดเล็ก โดยมอบหมายกรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดเชียงใหม่ ไปศึกษาเรื่องนี้ให้แเล้วเสร็จก่อนมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ประเด็นที่ 3 คือ สืบเนื่องจากลำน้ำปิงมีความตื้นเขิน คดเคี้ยว และมีคอคอดมาก เกิดจากธรรมชาติและการบุกรุก จึงได้สั่งการ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า และท้องถิ่น ศึกษาหาแนวทางแก้ไขให้เกิดความสะดวกในการระบายน้ำของเส้นทางน้ำเพิ่มขึ้น ประเด็นที่ 4 กรณีพื้นที่ต้นน้ำไม่สามารถหน่วงน้ำได้ดีเหมือนในอดีต และยังมีการทำกินบนพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ จึงมอบหมาย กรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ และ กระทรวงมหาดไทย ฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง และใช้ความรอบคอบในกาอนุโลมให้ปลูกข้าวโพดบนอย่างเหมาะสม และประเด็นที่ 5 คือ มอบหมายนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาฯ พิจารณาตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน
“นายภูมิธรรม ได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ ไปศึกษาดูว่าจะมีคณะทำงานอะไรเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อที่จะให้คำแนะนำแล้วก็ให้ท่านเตรียมการให้เสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากที่เกิดขึ้นเราจะมีคณะทำงานลงไปทำหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้า หรือหากเกิดขึ้นก็สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม ความเสียหายลดน้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศปช. รับทราบผลการดำเนินงานของ ศปช. และ ศปช.ส่วนหน้า ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการเข้าช่วยเหลือประชาชน และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยประสานการทำงานกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามมวลน้ำที่จะหลากลงมาในพื้นที่ภาคกลาง ได้สั่งการให้มีการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล เพื่อลดผลกระทบทั้งต่อพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด และดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ น้ำท่วมซ้ำซากอย่างเต็มที่ โดยขอให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เหมือนเมื่อปี 2554
“นายภูมิธรรม แถลงยืนยันได้ว่า น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพมหานครเหมือนปี 54 อย่างแน่นอน ตรงนี้ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น เพราะเราดูแล้ว ประเมินแล้ว ฝนกำลังใกล้จะหยุดตกแล้ว และปริมาณน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อภูมิพล ยังสามารถรองรับน้ำได้ ขณะที่เรากำลังจัดความสมดุลในการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำขังอยู่ในพื้นที่เหนือเขื่อนมากเกินไป และระบายสู่ท้ายเขื่อนให้พอดี ลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วยเช่นเดียวกัน”
นายจิรายุฯ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดเส้นทางรถไฟ สาย กทม. - เชียงใหม่ หลังระดับน้ำลดลง ว่า ได้รับรายงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสภาพทางในพื้นที่ๆมีน้ำท่วม และเร่งเคลียร์เส้นทางรถไฟทั้งหมดในพื้นที่ เนื่องจากมีเศษขยะ หญ้าวัชพืชและกิ่งต้นไม้ที่ตกค้างอยู่บนทางจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดทางให้ขบวนรถไฟวิ่งผ่านตามปกติ ตลอดปลายทางเชียงใหม่ โดยใช้ความเร็วที่ 5 กม./ชม.ระยะทาง 11,000 เมตร.จาก สถานีป่าเส้า - สถานีสารภี - สถานีเชียงใหม่ ตั้งแต่วันนี้ (8 ต.ค.67) เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป
ส่วนแขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่ ได้รายงานความคืบหน้าของถนนสาย ชม.3029, ถนนสาย ชม.2025 และ ถนนสาย ชม.3035 หลังน้ำท่วมคลี่คลาย ล่าสุดรถทุกชนิดสามารถสัญจรผ่านได้แล้ว นอกจากนี้ นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งป้ายเตือน และจัดชุดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนให้ปลอดภัย
สำหรับการจัดการขยะในพื้นที่น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย นายจิรายุ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งจัดการขยะปริมาณมหาศาลในพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย และอ.แม่สายอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย โดยสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย รายงานว่า ได้ดำเนินการจัดการขยะในพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายแล้ว 90 เปอร์เซนต์ ส่วนที่อ.แม่สาย เร่งกำจัดขยะที่มีจำนวนมาก แต่พื้นที่รองรับไม่เพียงพอ เตรียมเสริมคันบ่อให้สามารถรองรับขยะที่เหลือได้
“ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งลำเลียงเศษวัสดุและขยะออกจากพื้นที่เทศบาลเชียงราย โดยเหลืออีก 10 เปอร์เซนต์ ซึ่งตกค้างตามถนน ตรอก ซอย ส่วนขยะที่จัดเก็บแล้ว นำไปพักไว้ในจุดพักบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง 10 แห่ง ก่อนขนย้ายไปทิ้งที่บ่อขยะของเทศบาล ส่วนที่ อ.แม่สาย ปริมาณขยะจากน้ำท่วมประมาณ 6,000 ตัน ใช้บ่อขยะของเทศบาลตำบลแม่สายรองรับขยะ 4,500 ตัน เต็มความจุถึงคันบ่อแล้ว เตรียมเสริมคันบ่อให้สามารถรองรับขยะที่จะลำเลียงเข้ามาฝังกลบเพิ่มอีก 1,500 ตัน” นายจิรายุ กล่าว