In Thailand

สีสัน!'ลอยกระทงแปดริ้ว'ริมน้ำบางปะกง' หลายพื้นที่แยกจัด-แบ่งคนยึดย้อนอดีต



ฉะเชิงเทรา-หลากหลายบรรยากาศ สีสันวันลอยกระทงแปดริ้ว หลังเกือบทุกพื้นที่แข่งกันจัดงานช่วยแบ่งคนออกจากตัวเมืองหลักทำความแออัดจุดเก่าลดลง ส่วนชาวบ้านรอบนอกหนุนวัดชนบทรักษาประเพณีปล่อยกระทงสายแบบดั้งเดิมที่จัดต่อเนื่องมานานหลายปี สร้างแสงสีสว่างเรืองรองล่องไปไกลจนสุดปลายคุ้งน้ำ ขณะศิลปินท้องถิ่นเปิดเวทีขับกล่อมผู้คนที่มาเดินเที่ยวงานร้องเพลงแต่งใหม่ “บางปะกง แปดริ้ว” แลกมาลัยเพื่อการกุศลหาเงินช่วยเหลือให้แก่วัด

วันที่ 16 พ.ย.67 เวลา 00.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงานลอยกระทงในพื้นที่รอบตัวเมือง จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีความน่าสนใจและมีผู้คนมาเดินเที่ยวงานร่วมประเพณีลอยกระทงกันตั้งแต่เมื่อช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ 15 พ.ย.67 ที่ผ่านมาว่า ที่บริเวณวัดสาวชะโงก หรือวัดหลวงพ่อเหลือ ตั้งอยู่เลขที่ 123 ม.1 ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการจัดงานบุญตามประเพณี ด้วยการปล่อยกระทงสายจำนวน 2,568 ใบหรือตามที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเป็นงานลอยกระทงข้ามปีไปจนถึง พ.ศ.หน้า

 

ที่ได้มีการใช้กะลามะพร้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติที่มีอยู่จำนวนมากในท้องถิ่น เหตุจากเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมชื่อดังของ จ.ฉะเชิงเทรา และยังมีชื่อเสียงในระดับประเทศ มาทำเป็นกระทงลอยลงไปในแม่น้ำบางปะกง โดยมีกลุ่มชาวบ้านที่พร้อมใจกันเดินทางมาร่วมกันลอยตามประเพณี จนทำให้เกิดเป็นแสงสว่างระยิบเรียงรายทอดเป็นสายยาวออกไปไกลจนสุดสายตาที่ปลายคุ้งน้ำ จนถึงยังหน้าวัดสมานรัตนาราม แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่เยื้องคุ้งน้ำตรงกันข้ามในเขต ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ยังมีการจัดจำหน่ายกระทงที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติและย่อยสลายง่าย ทั้งกระทงหยวกกล้วยและขนมปังให้แก่ผู้ที่ต้องการมาลอยกระทงตามประเพณีปกติด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปในรูปแบบของงานวัดตามวิถีที่เรียบง่าย ในแบบฉบับที่บ้านและวัดไม่ห่างทิ้งกัน และยังคงพึ่งพากันอย่างอบอุ่นในชุมชน ขณะที่ศิลปินท้องถิ่น “จเด็จ เพชรสาวชะโงก” หรือนายสมจิตร์ วัฒนกิจวิชัย ผู้ประพันธ์คำร้องได้นำเพลงที่แต่งขึ้นเอง “บางปะกง แปดริ้ว” มาร้องขับกล่อมผู้ที่มาเที่ยวในงาน เพื่อแลกกับพวงมาลัยในการหาเงินทุนช่วยเหลือต่อทางวัด 

ซึ่งเพลงดังกล่าวได้ถูกแต่งขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา และมีครูเพลง “วันพุฒิ พรพิสิฐ” หรือนายสุภาพ ชื่นตะขบ ช่วยขัดเกลาเรียบเรียง และใส่ทำนองเพลงให้ พร้อมกับยังมีนักร้องท้องถิ่นอีกจำนวนมากที่ต่างพากันมาทำบุญด้วยการร้องเพลงขับกล่อมผู้คน ช่วยหาพวงมาลัยนำเงินเข้าวัด และเป็นการสร้างสีสันไม่ให้งานที่เรียบง่ายดูเงียบเหงา และถือเป็นมหรสพเพียงชนิดเดียวที่ถูกจัดขึ้นภายในงาน

ส่วนบรรยากาศการจัดงานลอยกระทง “วิถีไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ที่ทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จัดขึ้น ที่บริเวณสวนมรุพงษ์ ด้านหน้า รพ.พุทธโสธร ซึ่งมีการประกวดร้องเพลง การฉายหนังกลางแปลง การประกวดหนูน้อยนพมาศ และการออกร้านค้าจำหน่ายอาหารชื่อดังประจำท้องถิ่นจำนวนกว่า 130 ร้านค้านั้น ได้มีประชาชนเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก แต่ไม่หนาแน่นจนแออัดมากนัก เนื่องจากในพื้นที่ใกล้เคียงกันได้มีการจัดงานลอยกระทงมากถึง 3 แห่ง

ทั้งที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่ได้เปิดท่าน้ำให้ประชาชนได้เข้าไปลอยกระทงภายในบริเวณวัด และยังมีร้านค้าจำหน่ายกระทงและอาหารเช่นเดียวกันกับในงานที่บริเวณสวนมรุพงษ์ โดยมีมหรสพเป็นเวทีการแสดงวงดนตรีลูกทุ่งของนักเรียนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีชื่อเสียงจากทั่วทุกอำเภอ นอกจากนี้ยังมีการแสดงลิเก และมีการฉายหนังกลางแปลงประชันกันถึง 2 จอ 

ขณะที่วัดบางพระซึ่งเลยห่างจากวัดโสธรไปอีกเพียงเล็กน้อย ประมาณ 1 กม. ยังได้มีการจัดงานลอยกระทงด้วยเช่นเดียวกัน จึงทำให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปถูกแบ่งแยก เอาความแออัดที่เคยเกิดขึ้นที่บริเวณสวนมรุพงษ์ในทุกๆ ปี ออกไปยังพื้นที่รอบนอกใกล้เคียงกันลงไปได้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมาเมื่อหลายปีก่อน 

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา