Think In Truth
บทสรุป...ย้อนรอย'สงครามการค้า'ของ 'สหรัฐฯ VS จีน' โดย : ฅนข่าว 2499
Brand Inside คาดการณ์ว่าท้ายที่สุดแล้วสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไงก็ต้องจบลงด้วยท่าทีเจรจา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะจบลงได้ในเร็ววันนี้ หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ดูจะจริงจังในเรื่องสงครามการค้ามากขึ้นอีก ทำให้ล่าสุดทางการจีนและ EU ต้องจับมือกัน(Brand Inside เป็นเว็บข่าวธุรกิจที่ก่อตั้งในเดือนพฤษภาคม 2559 ด้วยจุดประสงค์ว่าต้องการเป็นแหล่งรวมเนื้อหาและความรู้สำหรับธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการจัดการ การตลาด การเงิน การลงทุน เศรษฐกิจ ทั้งจากในไทยและในต่างประเทศ)
โดนัลด์ ทรัมป์
ผู้แทนของจีนและ EU ได้ประสานเสียงในเรื่องของสงครามการค้าที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ว่าการที่สหรัฐใช้นโยบายเรื่องลัทธิคุ้มครองการค้า จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกได้ซึ่งฝ่ายของจีนเป็นเป้าหมายหลักของสหรัฐในเรื่องสงครามการค้า ส่วน EU ก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันของทั้ง 2 ฝ่ายตามมาด้วย
Liu He ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจีนของปธน.สี จิ้นผิง ได้กล่าวว่า จีนและ EU ได้ตกลงในเรื่องที่จะปกป้องการเจรจาการค้าแบบพหุพาคี หลังจากที่ตัวแทนของ EU อย่าง JyrkiKatainen ได้เข้าพูดคุยที่ประเทศจีนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งทั้งจีนและ EU พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสหรัฐในเรื่องของสงครามการค้า และเตรียมคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อที่จะได้ยื่นเรื่องให้กับองค์การการค้าโลกอีกด้วย
ก่อนหน้านั้น EU ได้เตรียมขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐเป็นมูลค่ากว่า 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอบโต้ที่ทางสหรัฐตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียม ซึ่ง EU ก็เป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่เช่นกัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายพยายามผลักดันในเรื่องการค้าเสรีมากขึ้นและเรื่องของนโยบาย One Belt One Road (หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง) ยังรวมไปถึงเรื่องของการลดโลกร้อน ซึ่ง ทรัมป์ ได้ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ด้วยเนื่องจากมองว่าข้อตกลงปัจจุบันนี้เอื้อประโยชน์ให้จีนและอินเดียมากเกินไป แต่ก็ยังมีความคลุมเครือหลายๆ เรื่อง
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและ EU ในหลายๆ เรื่องก็ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะเรื่องที่กิจการจีนทุ่มเงินในการไล่ซื้อกิจการในยุโรปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น บริษัทเทคโนโลยี และกิจการโครงสร้างพื้นฐานในยุโรป ทำให้เกิดความระแวงในเรื่องของความมั่นคง รวมไปถึงการที่บริษัทยุโรปไม่สามารถเจาะตลาดจีนได้เนื่องจากกฏเกณฑ์หลายๆ เรื่องของทางการจีน
Katainen(นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการพบปะพูดคุยกับทางการจีนในหลายๆ เรื่อง ถึงแม้ว่าเป้าหมายและมุมมองแต่ละเรื่องจะไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภัยไซเบอร์ และเรื่องอื่นๆ ซึ่งการเจรจาครั้งนี้จะต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำข้อตกลงได้ทันที
ย้อนมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
มาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้ราคาในตลาดโลกลดลง สร้างภาระให้กับผู้ส่งออกอย่างจีน ทั้งในมิติปริมาณและราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง ก่อให้เกิดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจในประเทศผู้ส่งออก ซึ่งกำแพงภาษีนำเข้านี้ เป็นนโยบายผลักเพื่อนบ้านให้เป็นยาจก (BeggarthyNighhbor) ที่ประเทศผู้จัดเก็บได้ประโยชน์บนความเสียหายของประเทศผู้ส่งออก
แต่เนื่องด้วยจีนก็เป็นประเทศใหญ่เช่นเดียวกับสหรัฐฯ หากจีนมีการเก็บภาษีนำเข้า ก็จะทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งนโยบายแบบปกป้องนี้ จึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดของจีนเช่นกัน เทียบได้กับนักโทษคนที่ 2 เลือกที่จะทรยศ สอดคล้องกับเหตุการณ์จริง ที่จีนออกมาประกาศตอบโต้ (Retaliation) ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค.2018 ที่ผ่านมา โลกเราเจอะประเด็นใหม่จากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เริ่มต้นด้วยการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ ประกาศในวันที่ 8 มี.ค.2018 ว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% ทุกรายการ ที่นำเข้าจากทั่วโลก โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ และเพื่อทำให้สามารถพลิกฟื้นอุตสาหกรรมให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ตามนโยบาย Make America Great Againซึ่งเป็นสโลแกนทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของอเมริกาที่ได้รับความนิยมล่าสุดโดยโดนัลด์ทรัมป์ระหว่างการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จในปี 2016และใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2024 นี้
หลังจากนั้น ในวันที่ 22 มี.ค.2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีอีกรอบ โดยใช้มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น พุ่งเป้าไปที่กลุ่มเทคโนโลยีของจีนที่มีข้อได้เปรียบเหนือสินค้าจากสหรัฐฯเอง รวมถึง ได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ พิจารณาออกมาตรการควบคุมการลงทุนจากจีนภายใน 60 วัน โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการลงทุนและการเข้าซื้อบริษัทสหรัฐฯ จากจีนที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี หรือการได้ครอบครองเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ
ภาษีนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียม จริงๆ เป็นเหมือนการโยนหินถามทาง และหยั่งกระแสตอบรับว่าจะเป็นอย่างไร เหตุที่มองเช่นนั้น ก็เพราะ ก่อนการลงนามเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเมื่อวันที่ 22 มี.ค. สหรัฐฯ ก็ตัดสินใจประกาศว่า สหภาพยุโรป (อียู) อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา เม็กซิโก และเกาหลีใต้ จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการเรียกเก็บภาษีเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้า
ดูจากการเคลื่อนไหวในคำสั่งของประธานาธิปดี ก็อาจสามารถตีความได้ว่า เป็นการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลในเวทีโลก อีกนัยหนึ่งคือ พุ่งเป้าไปที่จีน และรักษาความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรชาติอื่นๆไว้ก่อน แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้า และพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ กลับไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการเรียกเก็บภาษีเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้า ประเด็นนี้ เราคงต้องติดตามการเดินหมากของสหรัฐฯกันต่อไป ซึ่งกลายเป็นว่า ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจาก 2 มาตรการเรียกเก็บภาษีเต็มๆจากสหรัฐฯทีเดียว คือ 1) ภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% และ 2) การเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน หากเกิดขึ้น จะมีผลกระทบกับผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าหลักของญี่ปุ่นส่งออกไปให้จีนเต็มๆ โดยจากตัวเลขส่งออกของญี่ปุ่นในปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่า ญี่ปุ่นส่งออกเครื่องจักรที่ใช้ผลิต Electronic Components และ Semiconductors (ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์)ไปจีน เป็นสัดส่วนสูงถึง 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ญี่ปุ่น คือตัวอย่างประเทศที่โดนหางเลขจากมาตราการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯที่ออกมาในช่วงเดือน มี.ค. ได้อย่างชัดเจน
นัยหนึ่งที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองตีความไว้ก็คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ เองต้องรักษาฐานคะแนนเสียงตัวเองให้เพียงพอก่อนจะถึงการเลือกตั้ง Midterm Election (การเลือกตั้งกลางเทอม) ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้เดือน พ.ย. ให้พรรครีพลับบรีกัน รักษาเสียงข้างมากทั้งในสภาคองเกรส และวุฒิสภา อันจะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น ด้วยการผลักดันนโยบายในช่วงที่หาเสียงไว้ให้เกิดขึ้นจริงได้มากที่สุดก่อนจะเข้าสู่ฤดูเลือกตั้งนั่นเอง
สหรัฐฯขยับสะเทือนจีน
ต้นปี 2018 (2561) ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผย ตัวเลขปริมาณการค้าระหว่างประเทศจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทุบสถิติสูง โดยมูลค่าที่จีนนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซ๊ยนทั้งหมดเท่ากับ 235,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีคู่ค้า 3 อันดับแรกคือ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ และถือได้ว่า จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียน
ดังนั้น กรณีสงครามการค่าระหว่างสหรัฐฯกับจีน หากเกิดขึ้นจริง สินค้าส่งออกของไทยที่อยู่ใน Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ของจีนและสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นส่วนประกอบในการผลิต ที่ผลิตให้จีน และจีนส่งต่อไปขายยังสหรัฐฯอีกทอดหนึ่ง โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล่านี้ของไทย มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 23% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการในไทยต้องเตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ
อีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นผลดีต่อสินค้าเหล่านี้ ให้สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯได้โดยตรงจากราคาที่สามารถแข่งขันได้ รวมถึง จีนเองก็อาจเปลี่ยนแผนการลงทุน ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่อยู่ในข่ายโดนเรียกเก็บภาษีเช่นในกลุ่มอาเซียนก็เป็นไปได้
บทเรียนสงครามการค้าจากอดีตของสหรัฐอเมริกา
ในช่วงเดือนมีนาคม 2018 ประธานาธิบดี “โดนัลด์ทรัมป์”แห่งสหรัฐอเมริกา ลงนามในคำสั่งหลายฉบับให้ขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ เริ่มตั้งแต่การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเป็น 25% และ 10% ตามลำดับ ต่อด้วยสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าเทกโอเวอร์บริษัทอเมริกัน ปิดท้ายด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 25% รวมเป็นมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์
การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมนั้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนอีก 60,000 ล้านดอลลาร์นั้นยังคงเป็นการ “เตรียมการ” เพื่อ “ตอบโต้” การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและพฤติกรรมบีบบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีน
ขณะนี้มีเพียงจีนเท่านั้น ที่เตรียมแผนตอบโต้การขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐ โดยเล็งจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐหลายรายการคิดเป็นมูลค่ารวม 3,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าท่อเหล็ก, ผลไม้สด และไวน์ จากสหรัฐ 15% และขึ้นภาษีนำเข้าเนื้อหมู กับอะลูมิเนียมรีไซเคิลจากสหรัฐเป็น 25%
การที่มีเพียงจีนที่แสดงท่าทีตอบโต้ออกมา ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นจะไม่ทำ เพียงแต่สหรัฐยังคง “ยกเว้น” ประเทศพันธมิตรหลายประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) จากการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นเวลา 1 เดือน โดยทรัมป์คาดหวังว่า บรรดาพันธมิตรเหล่านั้นจะ “ยินยอม” ต่อข้อเรียกร้องเพื่อที่จะให้สหรัฐคงการยกเว้นไว้ต่อไป
อียูเองก็แสดงท่าทีชัดเจนเช่นกันว่า หากสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเมื่อใด ก็จะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจำนวนหนึ่งเป็น 25% อาทิ จักรยานยนต์, กางเกงยีนส์ และวิสกี้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในรัฐที่เป็นฐานเสียงทางการเมืองของทรัมป์ ขณะที่สหรัฐขู่จะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์เป็น 25% หากอียูทำตามที่ขู่ไว้จริง
ดังนั้น เพียงแค่จีนประเทศเดียวที่เตรียม “ทำสงครามการค้า” ตอบโต้สหรัฐก็เพียงพอต่อการทำให้ตลาดเงินทั่วโลกร่วงระนาวแล้ว เฉพาะดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพียง 2 วันก็ร่วงไปเกือบ ๆ 1,150 จุด
ปัญหานั้นไม่เพียงเพราะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทุกคน การทำสงครามการค้าไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายเท่านั้น แต่เพราะที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีบทเรียนเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง
ตัวอย่างที่หนักหนาที่สุดเกิดขึ้นในปี 1930 เมื่อมีการเสนอกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าโดยเฉลี่ยเป็นประมาณ 20% ผ่านความเห็นชอบคองเกรสออกมาบังคับใช้ เป้าหมายในเวลานั้นแต่เดิมเป็นการให้ความคุ้มครองต่อเกษตรกรอเมริกัน แต่ต่อมาขยายความคุ้มครองไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ล็อบบี้คองเกรส
ประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา แก้ปัญหาอุปสงค์ในสินค้าตัวเองหดหายไปแบบเฉียบพลันเพราะราคาที่สูงขึ้นในตลาดอเมริกันด้วยการถ้าไม่ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ก็พากันลดค่าเงินของตนเองลง
นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐหนนั้นส่งผลให้เกิดสิ่งที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “เดอะเกรต ดีเพรสชั่น” คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนานที่ลามออกไปทั่วโลก
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดว่า การตั้งกำแพงภาษีนั้นสร้างผลเสียให้เกิดขึ้นมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับก็คือ การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เมื่อปี 2002 ตัวเลขที่คณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ยูเอสไอทีซี) แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐอเมริกาลดลงเป็นมูลค่า 30.4 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานอเมริกันต้องตกงานประมาณ 200,000 ตำแหน่ง โดยประมาณว่า 13,000 ตำแหน่งในจำนวนนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้า
สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประมาณว่า การขึ้นภาษีของบุชสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 400,000 ดอลลาร์ต่อ1 ตำแหน่งงานที่เสียไป องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ยังชี้ขาดในเวลาต่อมาด้วยว่า การขึ้นภาษีของบุชครั้งนั้น เป็นการกระทำละเมิดกฎการค้าระหว่างประเทศ
ดูเหมือนครั้งเดียวที่การใช้ “ไม้แข็ง” ทำนองนี้ประสบความสำเร็จคือ “การเล่นงานญี่ปุ่น” เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน เมื่อฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโรนัลด์เรแกน กดดันจนญี่ปุ่นตกลงที่จะ “ระงับการส่งออกโดยสมัครใจ” เพื่อจำกัดจำนวนรถยนต์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐ
ทางหนึ่งนั้นเนื่องจากญี่ปุ่นไม่เพียงเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ยังพึ่งพาทหารอเมริกันในการคุ้มครองประเทศอีกด้วย ในอีกทางหนึ่งเป็นเพราะญี่ปุ่นพบหนทางเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ด้วยการไปปักหลักสร้างโรงงานผลิตขึ้นทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาเอง
ที่น่าสนใจก็คือ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ซึ่งทำเรื่องนี้ให้กับเรแกน คือ “โรเบิร์ตไลต์ไฮเซอร์” ซึ่งในเวลานี้ดำรงตำแหน่ง “ผู้แทนการค้า” ที่เป็นตำแหน่งสูงสุดสำหรับทำหน้าที่เจรจาการค้าของโดนัลด์ทรัมป์
อาจเป็นเพราะกรณีนี้ ทรัมป์ ถึงได้ทวีตข้อความเอาไว้เมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมาว่า “สงครามการค้า” นั้น “ดี” และ “เอาชนะได้ง่าย”
แต่ “จีน” ไม่ใช่ “ญี่ปุ่น” แน่นอน เพราะจีนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการคุ้มครองทางการทหารจากสหรัฐ และภายในประเทศจีนก็มีแรงกดดันต่อผู้รับผิดชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ “ตอบโต้” สหรัฐอเมริกาให้หนักพอ ๆ กัน หากสหรัฐอเมริกาคาดหวังว่าการ “ใช้ไม้แข็ง” ครั้งนี้จะช่วยให้จีนยินดีนั่งโต๊ะเจรจาด้วยและยินยอมต่อข้อต่อรองของสหรัฐอเมริกาโดยเร็ว ก็คงเป็นความคาดหวังที่ยากจะเป็นจริงได้
แต่ที่จะเป็นจริงก็คือระหว่างการเจรจานั้น การตอบโต้ซึ่งกันและกันทางการค้าก็คงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และสามารถหลุดออกนอกการควบคุมได้โดยง่ายนักวิชาการถึงได้บอกว่า สงครามการค้านั้น นอกจากจะไม่เป็นผลดีกับใครแล้ว ยังเกิดง่ายดายมาก แต่จบยากอย่างยิ่งอีกด้วย
บทวิเคราะห์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
ย้อนไปปี 2016 (2559)สหรัฐฯและจีน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ประมาณ 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าบางอย่างอาจต้องส่งไปส่งกลับ เช่น เครื่องบิน เพราะว่าต้องใช้อะไหล่บางชิ้นที่ผลิตจากจีน แล้วส่งกลับมาประกอบที่สหรัฐ ก่อนที่จะส่งกลับไปขายในจีนอีกรอบ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือที่มี Supply Chain เกี่ยวข้องเยอะมาก
ฉะนั้นความสัมพันธ์ทางการค้าของ 2 ประเทศย่อมขาดกันไม่ได้ และยิ่งถ้านับเรื่องของการลงทุนระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้น (FDI) อีกมหาศาล ก่อให้เกิดการจ้างงานหรือเกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
“We are not in a trade war with China, that war was lost many years ago by the foolish, or incompetent, people who represented the U.S. Now we have a Trade Deficit of $500 Billion a year, with Intellectual Property Theft of another $300 Billion. We cannot let this continue!
6:22 PM - Apr 4, 2018
“เราไม่ได้อยู่ในสงครามการค้ากับจีนสงครามครั้งนี้หายไปเมื่อหลายปีก่อนโดยคนโง่หรือไร้ความสามารถคนที่เป็นตัวแทนสหรัฐฯตอนนี้เรามีการขาดดุลการค้าที่ 500 พันล้านเหรียญต่อปีโดยมีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาอีก 300 พันล้านเหรียญเราไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้ดำเนินต่อไปได้!
ทำไมถึงเกิดเรื่องสงครามการค้าได้”
เรื่องนี้ เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าจีน เป็นเรื่องที่กินแหนงแคลงใจทั้งสองมาโดยตลอด ได้แก่ สินค้ากลุ่มไอที ไม่ว่าจะเป็นทั้ง Hardware และ Software และสินค้าชนิดอื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ ทรัมป์ ไม่พอใจอย่างมาก
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สหรัฐหวั่นนโยบายMade in China 2025 ซึ่งจีนพยายามที่จะพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูง และรวมไปถึงสินค้าไฮเทคมากขึ้น สินค้าบางส่วนที่มีปัญหาละเมิดฯ ที่กล่าวไปข้างต้นมีความทับซ้อนกับสินค้าที่จีนต้องการผลักดันในนโยบายนี้เช่นกัน
ประเด็นสุดท้าย คือ สหรัฐต้องการที่จะลดการขาดดุลทางการค้ากับประเทศจีน และรวมไปถึงเรื่องของการว่างงานในสหรัฐ ซึ่งการเพิ่มกำแพงภาษีในมุมมองทรัมป์คือการเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐ
สหรัฐเปิดเกมก่อนโดย ทรัมป์ ได้ลงนามในข้อกฎ หมายใหม่ ต่อเนื่องจากการขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งคราวนี้คือการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 1,300 รายการ โดยเน้นไปที่กลุ่มสินค้าที่จีนได้เปรียบทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ทาง สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังสหรัฐ เสนอการตั้งข้อจำกัดของการลงทุนจากจีนในสหรัฐอเมริกาด้วย
ดังนั้น ทางการจีนได้โต้กลับรัฐบาลสหรัฐ โดยเล็งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 128 รายการ เช่น หมู ผลไม้ รวมไปถึงเศษเหล็กและอลูมิเนียม เพื่อตอบโต้ทางรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการตอบโต้กลับครั้งแรกของทางการจีนในเรื่องของการทำสงครามการ ค้าระหว่างสองประเทศนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้แถลงว่าจีนจะใช้มาตราการทุกๆ ทาง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
ส่วนมาตรการล่าสุดของจีนคือการเตรียมเก็บภาษีเพิ่มสินค้าบางรายการ เช่น ถั่วเหลือง เครื่องบินที่น้ำหนักน้อยกว่า 45 ตัน วิสกี้ ฯลฯ ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทางเกษตรกรสหรัฐ (ซึ่งส่วนใหญ่เลือกทรัมป์) กลัวมากคือเรื่องของการขึ้นภาษีถั่วเหลือง เพราะจีนถือเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่ของสหรัฐซึ่งตอนนี้จีนใช้วิธีถ้าหากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้ามูลค่ารวมเท่าไหร่ จีนก็จะขึ้นมูลค่าเท่ากับทางสหรัฐทำทุกคนเดือดร้อน ไม่ใช่แค่ 2 ประเทศ
บริษัทในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มที่มี Supply Chain จากประเทศจีน อย่าง Apple หรือ Cisco ฯลฯ ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะว่ามีฐานการผลิตในจีน ส่วนบริษัทในจีนก็เดือดร้อนเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทที่ผลิตสินค้าไอทีสำหรับส่งไปประกอบอีกที เช่น Sunny Optical (ซันนี่ ออฟติคัล) หรือ AAC ที่มีฐานผลิตในจีนที่ต้องส่งออกไปสหรัฐ
ถ้าหากเรื่องอัตราภาษีที่แต่ละฝ่ายกำหนดมาแล้วทำให้บริษัทเหล่านี้เดือดร้อน การผลักภาระดังกล่าวย่อมตกอยู่กับผู้บริโภค ซึ่งสุดท้ายแล้วสินค้าสำเร็จรูปบางอย่างย่อมมีราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าไอที
ยังไม่นับถึงเรื่องความเสียหายจะมากกว่านี้ถ้าหากสงครามลามไปถึงเรื่องอุตสาหกรรมอื่นๆ ความเสียหายจะกว้างและไกลกว่านี้
สุดท้ายต้องมาเจรจาอยู่ดี
สงครามครั้งนี้ท้ายที่สุดแล้วเกมนี้จะต้องจบที่การเจรจาทางการค้าใหม่แน่นอน เพราะว่าถ้าหากทรัมป์ยังประกาศเรื่องเพิ่มอัตราภาษีจากสินค้าจีนไปเรื่อยๆ จีนก็จะตอบโต้แบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้จีนยังไม่ใช้วิธีการที่รุนแรงมากเท่าไหร่ เพราะจีนมองว่าถ้าหากจีนเล่นแรงด้วยจะกลายเป็นเกมที่ แพ้-แพ้ ทั้งสองฝ่าย ซึ่งจีนยอมเปิดประตูที่จะเจรจา
สำหรับคนที่สงสัยว่าองค์การการค้าโลก หรือWTOทำไมไม่ออกมาทำอะไรสักอย่าง ซึ่งอย่างมากได้แค่ออกมาปรามๆ เพราะว่าต่างฝ่ายนั้นอ้างว่าการตั้งกำแพงภาษีนั้นอยู่ภายใต้กฏหมายในประเทศ ซึ่งถ้าหากต่างฝ่ายต่างขึ้นภาษีใส่ซึ่งกันและกันย่อมทำให้ประชาชนทั่วโลกได้รับความเดือดร้อนแน่นอน ไม่ใช่แค่ 2 ประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างเดียว
โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า นโยบายแบบปกป้องเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเลือกใช้กลยุทธ์แบบใด ส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างขึ้นภาษีนำเข้า และจบลงที่จุดดุลยภาพแนช ที่ทั้งคู่สูญเสียสูงสุด เป็นที่มาของสงครามการค้านั่นเอง
สำหรับผู้เล่นอย่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งคู่จะต้องจบลงด้วยการสูญเสียจากการใช้มาตรการภาษีนำเข้าฟาดฟันกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับโลกใบนี้และสวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศ
บทสรุป ก็คือ การทำการค้าแบบเสรี.