EDU Research & Innovation
วว.และผู้ประกอบการเสนอแนวคิดทิศทาง การผลิตไม้ดอกไม้ประดับ-กล้วยไม้ไทย

กรุงเทพฯ-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วว.) จัดการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการผลิตไม้ดอกไม้ประดับและกล้วยไม้ไทย–ญี่ปุ่น: การพัฒนา นวัตกรรม และความยั่งยืน" ภายใต้การดำเนินงาน“ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ: Hub of Talents Flower and Ornamental Plant Production Technology” ในวันพุธ ที่ 18 มิถุนายน 2568 ณ เวทีกลาง ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯโดยเป็นหนึ่งกิจกรรมภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่ง วช. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2568 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม อย่างทั่วถึง ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้าถึงความรู้และโอกาสจากงานวิจัยอย่างเท่าเทียม
เวทีเสวนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญร่วมเสนอและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นดังนี้
1) แนวทางงานวิจัยและการผลิตไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทย โดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ และในฐานะผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ
2) ทิศทางการพัฒนาตลาดกล้วยไม้ไทยเพื่อการส่งออก โดย นางแสงเดือน ลีลาสมานชัย สมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย
3) ตลาดค้าส่งกลาง Ota และการประมูลไม้ดอกไม้ประดับ โดย Mr.KatoRyoji (Ota Floriculture Auction Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น)
ดำเนินการเสวนาโดย นางสาวพิมประไพ ศุภรรัตน์ นักวิเทศสัมพันธ์อาวุโส กองวิเทศสัมพันธ์ สำนักผู้ว่าการ วว.
ทั้งนี้ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีกรอบโครงการวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การวิจัยเพื่อการผลิต การวิจัยเพื่อการส่งออก การวิจัยหลังการเก็บเกี่ยว การวิจัยเทคโนโลยี การวิจัยในท้องถิ่น และการวางแผนการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและพัฒนาตลาดไม้ดอกไม้ประดับมูลค่าสูงภายในประเทศและต่างประเทศอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งในการผลิตและการตลาดอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม