Authority & Harm

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน6ต้นโมเดลค้านรัฐฯ หวนตีตรากัญชากลับเป็นยาเสพติด



บุรีรัมย์-กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 6 ต้นโนนมาลัย อำเภอคูเมือง บุรีรัมย์ ประเดิมแห่งแรกครั้งที่อนุทิน มาเปิด เผยการจะนำเอากัญชามาเป็นยาเสพติดไม่เห็นด้วย แนะนำให้ปลูกเสรีเพราะมีประโยชน์มากกว่าโทษ เชื่อเป็นการเมืองมากกว่ารัฐบาลน่าจะหันไปปราบยาบ้าที่กำลังระบาดน่าจะดีกว่านี้

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 สถานการณ์การผลักดันให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะกลุ่ม " 6 ต้นโมเดล" ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐในอดีต

โดยล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี 2568 กำหนดให้ “ช่อดอกกัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม และกำหนดเงื่อนไขเข้มงวดในการศึกษาวิจัย การจำหน่าย การส่งออก การแปรรูป และการสั่งจ่ายเพื่อการรักษา ซึ่งต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโศกนาค หมู่ที่ 6 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ ภายใต้ชื่อ “6 ต้นโนนมาลัย” ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยมาเป็นประธานเปิดโครงการเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย

นายวิไล คำพิมูล อายุ 69 ปี รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ระบุว่า การควบคุมกัญชาเข้มข้นเช่นนี้เป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าการควบคุมเพื่อประโยชน์ประชาชน เพราะที่ผ่านมาชุมชนได้ใช้กัญชาเป็นสมุนไพรรักษาโรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีรายได้จากการส่งให้โรงพยาบาลคูเมือง และใช้ส่วนที่เหลือในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยในครัวเรือน

“แทนที่รัฐจะควบคุมกัญชา กลับไปควบคุมการระบาดของยาบ้าที่แพร่หนักในพื้นที่จะไม่ดีกว่าหรือ ชาวบ้านเราปลูกกัญชาอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ ไม่ใช่เพื่อเสพหรือค้ากำไร” นายวิไลกล่าว

ขณะที่ในประกาศฉบับใหม่นี้ยังระบุห้ามจำหน่ายกัญชาผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ แพลตฟอร์มออนไลน์ และในสถานที่สาธารณะ เช่น วัด สวนสาธารณะ สวนสัตว์ รวมถึงห้ามโฆษณากัญชาทุกช่องทาง เว้นแต่ใช้ตามคำสั่งแพทย์ โดยจำกัดปริมาณการใช้รักษาไม่เกิน 30 วัน

เสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบชี้ให้เห็นว่า การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือสมุนไพรควบคุม อาจเป็นการถอยหลังในด้านการแพทย์แผนไทย และลดทอนศักยภาพของชุมชนที่กำลังพึ่งพาตนเองจากการใช้พืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจนี้ ////////

ธีรยุทธ์ ชำนาญกอง ผู้สื่อข่าว จ.บุรีรัมย์ รายงาน