In News
นักวิชาการสหรัฐชี้การขัดแย้งไทย-เขมร 'ฮุนเซ็น'หวังสร้างชื่อ/สั่งโจมตีไร้เป้าหมาย

กรุงเทพฯ-นักวิชาการสหรัฐฯ ชี้ความขัดแย้งไทย–กัมพูชา มาจากการเมืองภายในกัมพูชาที่หวังสร้างชื่อให้ผู้นำกัมพูชา แต่กลับใช้การโจมตีแบบไม่ระบุเป้าหมายแม้เป็นพื้นที่พลเรือน ขณะที่ไทยยังเน้นเป้าหมายเฉพาะทางทหารแบบแม่นยำ
วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.30 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ. ทก.) เผย นักวิชาการต่างประเทศ วิเคราะห์ปฐมเหตุที่มาความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ว่า มาจากการเมืองภายในกัมพูชาที่หวังสร้างชื่อให้ผู้นำกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ใช้สถานการณ์ความตึงเครียดเพื่อเสริมภาพลักษณ์ความเข้มแข็งและรวบอำนาจทางการเมือง โดยศาสตราจารย์ซาคารี อาบูซา (Dr. Zachary M. Abuza) นักวิชาการด้านความมั่นคงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก National Defense University กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า
กองทัพไทยมีความเหนือชั้นอย่างชัดเจนด้านยุทโธปกรณ์และงบประมาณ และการใช้เครื่องบินรบ F-16 ตอบโต้ในสถานการณ์ล่าสุด ถือเป็นการดำเนินการที่แม่นยำ โดยมุ่งเป้าเฉพาะหน่วยยิง BM-21 ของฝ่ายกัมพูชาที่กระทำการโจมตีพื้นที่พลเรือนในฝั่งไทย จนมีผู้เสียชีวิตและโรงพยาบาลเสียหาย ไทยยังยึดหลักการใช้กำลังอย่างจำกัดและสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม ต่างจากฝ่ายกัมพูชาที่กระทำการโจมตีแบบสุ่ม ไม่มีการจำแนกเป้าหมาย ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตพลเรือนอย่างยิ่ง ศาสตราจารย์อาบูซา ยังได้วิเคราะห์ว่าความขัดแย้งบริเวณชายแดนในครั้งนี้มีรากเหง้าจากข้อพิพาทเขตแดนในยุคอาณานิคม รวมถึงคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร และประเด็นพื้นที่พิพาท เช่น “สามเหลี่ยมมรกต” ซึ่งแม้จะเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็น เครื่องมือทางการเมืองภายในของผู้นำกัมพูชา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ที่พยายามใช้สถานการณ์ความตึงเครียดเพื่อเสริมภาพลักษณ์ความเข้มแข็งและรวบอำนาจทางการเมือง ที่สำคัญนักวิชาการสหรัฐฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์และบ่อนพนันในกัมพูชา เป็นแหล่งรายได้หลักของเครือข่ายชนชั้นนำกัมพูชา
ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลไทย ทั้งในด้านกฎหมายคาสิโน และการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การจับกุมก๊กอานผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฮุน มาเน็ต ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ และสะท้อนจุดยืนของไทยในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ “บทวิเคราะห์นี้ ตรงไปตรงมา มีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน และสะท้อนความเป็น กลางทางวิชาการ ยืนยันว่า
ไทยไม่ต้องการความรุนแรง แต่หากจำเป็นต้องตอบโต้ ก็จะกระทำด้วยความรับผิดชอบ มีเป้าหมายจำเพาะ ยึดหลักมนุษยธรรม และความมั่นคงของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งยังเดินหน้าทางการทูตอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และรักษาสันติภาพในภูมิภาค ซึ่งวันนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาราชการนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปมาเลเซีย ตามคำเชิญของ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประธานอาเซียน เพื่อหาแนวทางที่สันติเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งแสดงถึงความจริงใจของรัฐบาลไทย” นายจิรายุกล่าว