In Bangkok

สนน.กทม.รับมือพายุหนุนฝนส.ค.-ก.ย.นี้




กรุงเทพฯ-สำนักการระบายน้ำกทม.เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนจากพายุหมุนเขตร้อนช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมรับมือพายุหมุนเขตร้อนในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย.นี้ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำได้เตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ โดยมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สนน. เป็นศูนย์กลางการติดตามตรวจสอบสภาพอากาศด้วยเรดาร์ พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมขัง ประชาชนสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์สำนักการระบายน้ำและทวิตเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย BEST) เข้าตรวจสอบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สำนักการโยธาได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อเตรียมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้มในช่วงฤดูฝน โดยแจ้งเจ้าของป้ายโฆษณาให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หากป้ายมีสภาพเก่าชำรุด อันอาจก่อให้เกิดอันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับป้ายอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย

นายวิรัตน์  มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตได้ดำเนินการตัดแต่งต้นไม้ ตามแผนการตัดแต่งต้นไม้ประจำปีของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้ตัดแต่งต้นไม้ไปแล้วร้อยละ 67 ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน โดยเน้นย้ำการติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของต้นไม้ใหญ่ การตัดแต่งกิ่งไม้ที่เสี่ยงต่อการหัก ฉีกขาด การสางโปร่ง ลดทอนความสูง การค้ำยันต้นไม้ใหญ่ให้มีความมั่นคงแข็งแรง ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันการโค่นล้มสร้างความเสียหายและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่เอกชน ได้ประสานเจ้าของพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยอยู่เสมอ ตลอดจนเตรียมความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ ยานพาหนะ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติงาน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำกรณีเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ โดยจัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ประจำจุดอ่อนน้ำท่วม เพื่อจัดเก็บขยะ เศษวัสดุ และใบไม้บริเวณหน้าตะแกรงท่อระบายน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำไหลป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางสัญจร ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตรวจสอบต้นไม้ภายในที่พักอาศัย หากพบต้นไม้ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการโค่นล้มจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สามารถขอรับบริการตัดและขุดต้นไม้ได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งจะมีค่าบริการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการ พ.ศ.2543