In Bangkok

สนน.เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ ร่วมมือภาคเอกชนบำรุงรักษาท่อ



กรุงเทพฯ-สำนักการระบายน้ำ กทม.เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ – ประสานความร่วมมือภาคเอกชนบำรุงรักษาท่อระบายน้ำ

นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.บูรณาการลอกท่อระบายน้ำให้ทุกจุดสามารถระบายน้ำได้ว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย โครงข่ายระบบท่อระบายน้ำ 6,564 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนสายหลัก 2,050 กิโลเมตร และตรอก ซอย 4,514 กิโลเมตร และโครงข่ายระบบคู คลอง 1,980 คลอง ความยาว 2,552.399 กิโลเมตร ซึ่งที่ผ่านมา กทม. โดยสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต 50 เขต ได้ขุดลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลน ทำความสะอาดร่องน้ำในส่วนที่ กทม.รับผิดชอบ โดยมีแผนงานทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,355.135 กิโลเมตร ดำเนินการได้ 3,066.928 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 91.41 สำหรับการขุดลอกคู คลอง และเปิดทางน้ำไหล มีแผนดำเนินการ 1,606.371 กิโลเมตร ดำเนินการได้ 1,564.123 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 97.37 ส่วนการขุดลอกคู คลอง มีแผนดำเนินการ 457.110 กิโลเมตร ดำเนินการได้ 439.237 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 96.09 นอกจากนั้น ยังได้ล้างทำความสะอาด เปิดทางน้ำไหล และขุดลอกอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็ว ทั้งยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบนถนนสายหลักและสายรองอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในช่วงที่มีฝนตก สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตยังได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังลงพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม เพื่อร่วมปฏิบัติหน้าที่และประสานให้ความช่วยเหลือประชาชน การจัดเก็บขยะที่ไหลมาปิดฝาตะแกรงระบายน้ำและหน้าบ่อสูบน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบระบายน้ำของ กทม.เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมบูรณ์ที่สุด

หากเทียบจากข้อมูลสถิติปี 2563 จะพบว่าปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ จากที่มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด ลดลงเหลือ 12 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 56 จุด ลดลงเหลือ 47 จุด และในปี 2565 คาดว่าจะสามารถลดจุดเสี่ยงในถนนสายหลักได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ เช่น ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร เนื่องจากระบบท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กและชำรุด อุดตัน ขาดการบำรุงรักษา จึงไม่สามารถระบายน้ำมายังระบบท่อระบายน้ำของ กทม.ได้ รวมทั้งกายภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตาม สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตได้ร่วมกันบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น สนับสนุนหน่วยบริการเร่งด่วน (Best) เข้าดูดเลนล้างท่อระบายน้ำในจุดที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง จัดทำแนวทำนบคันดินและแนวกระสอบทราย สนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซล และเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดเคลื่อนที่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เอกชนให้เร็วที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในการปิดการสัญจร เพื่อจัดทำพื้นที่ปิดล้อมระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม กทม.ยังต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการบำรุงรักษาระบบท่อระบายน้ำให้มีสภาพสมบูรณ์และจัดระบบสูบน้ำของตนเองให้สอดรับกับระบบระบายน้ำของ กทม. รวมทั้งการจัดสร้างบ่อหน่วงน้ำในพื้นที่เอกชนไว้รองรับปริมาณน้ำฝน ไม่ให้ท่วมขังก่อนจะระบายออกสู่ระบบท่อสาธารณะภายหลังฝนหยุดตกเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติแล้วต่อไป นอกจากนี้ กทม.ยังต้องได้รับความยินยอมจากภาคเอกชนมอบโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ เพื่อภาครัฐจะได้พิจารณาเข้าปรับปรุงพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานการระบายน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในความควบคุมและบริหารจัดการของ กทม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ