In Bangkok

สภากทม.ให้ถกขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ตั้งงบฯกว่า4.8พันล้านบาท



กรุงเทพฯ-สภากทม.มอบ คกก.สามัญ สภา กทม. พิจารณาโครงการที่ขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี กว่า 4,800 ล้านบาท ก่อนนำเข้าที่ประชุมเห็นชอบ

(22 ก.ย. 64) นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2564 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

ในที่ประชุม พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 กำหนดมาตรการในการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารเพื่อให้สถานที่จำหน่ายอาหารมีสุขลักษณะที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งมีผลให้การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร สุขลักษณะของกรรมวิธีการจำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุง เก็บรักษาอาหาร สุขลักษณะของภาชนะอุปกรณ์ น้ำใช้ และของใช้อื่น สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ปรุงอาหาร และผู้ให้บริการ รวมทั้งการป้องกันเหตุรำคาญและการป้องกันโรคติดต่อ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545 ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงดังกล่าว จึงสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารที่ต้องมีการควบคุมกำกับดูแลภายในเขตกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงดังกล่าว  

นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข สภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คณะกรรมการได้ประชุมพิจารณาร่างข้อบัญญัติ ฯ ดังกล่าว และมีความเห็นว่า เนื่องจาก ข้อบัญญัติ ฯ ฉบับ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมสถานที่สะสมอาหารใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการสุขลักษณะของสถานที่สะสมอาหารที่ต้องมีการควบคุมกำกับดูแลภายในเขตกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข สำหรับประเด็นแก้ไขที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างโดยแบ่งหมวดหมู่อย่างชัดเจน และให้สอดคล้องกับกฎกระทรวง 

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติ ฯ ฉบับนี้ และเสนอตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติ ฯ จำนวน 13 คน 

กทม. เสนอขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 585 โครงการ

จากนั้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นญัตติ ขอกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรณีกันเงินไม่มีหนี้ผูกพันของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องดำเนินการกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 2) ไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ โดยเป็นโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช รวมจำนวน 585 รายการ วงเงินงบประมาณ กว่า 4,800 ล้านบาท  ซึ่งกรุงเทพมหานครได้พิจารณาแล้วว่าโครงการดังกล่าว ยังจำเป็นต้องได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการต่อไป จึงได้ขอกันเงินงบประมาณไว้เพื่อเบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรณีกันเงินไม่มีหนี้ผูกพันของกรุงเทพมหานคร
 
นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ คณะกรรมการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และงบประมาณ สภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่ประธานสภากรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ พิจารณาเบื้องต้นก่อนนำเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณา ผลการพิจารณาพบว่า การขอกันเงินเหลื่อมปีโดยไม่มีหนี้ผูกพัน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้เห็นชอบไปแล้ว บางโครงการเป็นเงินงบประมณจากการจ่ายขาดเงินสะสม หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จจะก่อให้เกิดความเสียหาย
เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณาจึงเสนอให้นำรายละเอียดโครงการแต่ละโครงการให้คณะกรรมการสามัญได้ร่วมพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง 

จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมกันอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย พลโท โชติภณ จันทร์อยู่ กล่าวว่า จากการติดตามการทำงานพบว่าปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้เกิดจากการบริหารจัดการของหน่วยงาน ปัญหาจากบริษัทผู้รับเหมา และปัญหาจากหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ก่อสร้างนั้น กรุงเทพมหานครจึงควรจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการพัฒนาเมือง โดยให้หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อให้โครงการต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ นายภาส ภาสสัทธา ได้แสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาสภากรุงเทพมหานครได้มอบหมายคณะอนุกรรมการรับผิดชอบกลุ่มโซนติดตามการใช้งบประมาณของเขตอย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้าส่วนใหญ่ เนื่องจากกำหนดขอบเขตงานล่าช้า การจัดทำราคากลางไม่เรียบร้อย 

ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติให้คณะกรรมการสภากรุงเทพมหานครสามัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่าง ๆ ตรวจสอบและศึกษารายละเอียด พร้อมเสนอข้อคิดเห็นต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครภายในวันที่ 27 ก.ย. เพื่อนำเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครพิจารณาในวันที่ 30 ก.ย. 64