In Bangkok

กทม.เตรียมปรับแนวทางของศูนย์พักคอย ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง



กรุงเทพฯ-ประชุมผู้บิรหารกทม. เผยสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มลดลง เตรียมปรับแนวทางการดำเนินงานศูนย์พักคอยให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อ

 (27 ก.ย. 64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Teleconference) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ทั้งนี้ ในที่ประชุมสำนักอนามัยรายงานผลการดำเนินงานและบริหารจัดการศูนย์พักคอย (Community Isolation : CI) ของกรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่ทั้งหมด 129 แห่ง แบ่งเป็น 1. ศูนย์พักคอย โดยกรุงเทพฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคี (Community Isolation : CI) จำนวน 62 แห่ง 2. โรงพยาบาลสนาม ประจำกลุ่มเขต (District Field Hospital/CI Plus) จำนวน 8 แห่ง และ 3. ศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation) จำนวน 59 แห่ง จากการดำเนินการที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีการสำรวจปัญหา อุปสรรค การดำเนินงานของศูนย์พักคอย (Community Isolation) เพื่อปรับกระบวนการทำงาน และจัดทำแผนตั้งรับผู้ติดเชื้อโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) ในศูนย์พักคอย (Community Isolation) โดยหากผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่ น้อยกว่า 3,000 คน/วัน สำนักงานเขตดูแลและคงสภาพศูนย์พักคอย (Community Isolation) ในพื้นที่ให้พร้อมใช้งาน และนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน Hospitel หรือโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขต กรณีผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่ น้อยกว่า 1,500 คน/วัน ให้ยุติการดำเนินการของศูนย์พักคอย (Community Isolation) หากมีผู้ป่วยเข้ารักษาใน Hospitel ถึงร้อยละ 80 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสานแจ้งกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการเปิดศูนย์พักคอย

นอกจากนี้ ได้มีแนวทางดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์ปัจจุบันด้วย ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง ถือเป็นทิศทางที่ดี แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้นต่อไป ซึ่งจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกรุงเทพต้องชนะ วันที่ 22 ก.ย. 64 ได้มอบหมายให้สำนักงานเขต 50 เขต ดำเนินงานและบริหารจัดการศูนย์พักคอย (Community Isolation) ในพื้นที่ ดังนี้ 1. ศูนย์พักคอยที่ไม่มีผู้ป่วยหรือมีจำนวนผู้ป่วยน้อย ขอให้พิจารณาปรับลดศูนย์พักคอยร้อยละ 50 เข้าสู่ Standby Mode และปรับปรุงสถานที่ให้พร้อมใช้งาน การปรับลดให้พิจารณาตามบริบท และจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ โดยเรียงลำดับ ดังนี้ โรงเรียน/สถานศึกษา (ในสังกัดกรุงเทพมหานคร/นอกสังกัดกรุงเทพมหานคร) (พิจารณาปรับลด/หยุดรับผู้ป่วยพร้อมปรับปรุงสถานที่โรงเรียนให้พร้อมเปิดเรียนวันที่ 1 พ.ย. 64) วัด ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์พักคอยที่ดำเนินการโดยเอกชน และโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขต (CI Plus) (ลำดับสุดท้ายที่จะหยุดรับผู้ป่วย) ส่วนศูนย์พักคอยที่รับผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโควิด–19 ที่เป็นกลุ่มเฉพาะขอให้เปิดรับผู้ป่วยไว้ก่อน เช่น ศูนย์พักคอยศูนย์สร้างสุขทุกวัยสะพานสูง (รับเฉพาะคนไร้บ้าน) ศูนย์พักคอยโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ (รับเฉพาะผู้พิการทางสายตา) เป็นต้น