Biz news

ยันดันกฎหมายยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ ไม่แค่นิติบุคคล-คนทั่วไปได้รับสิทธิ



กรุงเทพฯ-การมาเยือนของโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อปากท้องของคนไทยโดยถ้วนหน้า ตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ยิ่งเมื่อรัฐประกาศมาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน ประชาชนทั่วประเทศขาดรายได้ฉับพลัน ซํ้าเติมภาวะหนี้สินครัวเรือนให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่แผ่ขยายวงกว้างและซึมลึกยาวนาน

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้ทำการสำรวจสถานการณ์หนี้สินของลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พบว่า ผู้คนทุกช่วงชั้นรายได้ล้วนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันคือ รายได้ที่หดหาย สวนทางกับภาระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน 

ที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงินต่างๆ จะพยายามเข็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โดยมีเงื่อนไขพิเศษมากมาย แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการเหล่านี้กลับไม่สามารถตอบโจทย์ที่แท้จริง โดยเฉพาะบรรดาลูกหนี้รายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย หรือกระทั่งถูกปฏิเสธคำขอเข้าร่วมมาตรการ

แนวร่วมการเงินฯ จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด หนึ่งในข้อเสนอที่สำคัญคือ การผลักดัน ‘กฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา’ 

ข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากแนวคิดที่ว่า ที่ผ่านมาลูกหนี้ไม่สามารถยื่นล้มละลายด้วยตัวเองได้ เนื่องจากกฎหมายล้มละลายของไทยยังไม่เปิดช่องให้ลูกหนี้รายย่อยมีสิทธิยื่นล้มละลายโดยสมัครใจเพื่อเข้าสู่กระบวนการ “ฟื้นฟูหนี้สิน” แตกต่างจากนิติบุคคลที่มีสิทธิยื่นล้มละลายโดยสมัครใจเพื่อเข้าสู่กระบวนการ “ฟื้นฟูกิจการ” ต่อไปได้

หลักการสำคัญของกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา อาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการรับมือกับวิกฤติหนี้รายย่อย เพราะนอกจากจะเป็นการรับประกันสิทธิพื้นฐานในการมีชีวิตใหม่หลังโควิด-19 อันเป็นวิกฤติที่ทำให้สูญเสียความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้แล้ว ยังเป็นวิธีรับมือกับวิกฤติที่มีประสิทธิภาพกว่าการปล่อยให้เจ้าหนี้ยื่นฟ้องล้มละลายฝ่ายเดียว อีกทั้งยังทำให้ลูกหนี้รายย่อยมีสิทธิ ‘ฟื้นฟูหนี้สิน’ ทัดเทียมกับลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งได้รับสิทธิในการยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ (ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ) นับตั้งแต่เมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 

“หากมองในแง่หนึ่ง สิทธิในการยื่นล้มละลายโดยสมัครใจของลูกหนี้รายย่อย ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้ในสารบบของประเทศไทยมาก่อน ทั้งที่มาตรฐานในสากลโลกระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่มีสิทธิยื่นล้มละลายโดยสมัครใจไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ฉะนั้นประเด็นนี้จึงควรถูกนำมาอภิปรายอย่างกว้างขวางและผลักดันอย่างเป็นระบบต่อไป” สฤณี อาชวานันทกุล ตัวแทนจากแนวร่วมการเงินฯ กล่าวไว้ตอนหนึ่งในเวทีเสวนาออนไลน์ ‘โควิด วิกฤติหนี้: ผีซ้ำด้ำพลอย ทางออกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 

สำหรับข้อกังวลที่ว่า กฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจแก่บุคคลธรรมดาอาจส่งผลให้ดอกเบี้ยสินเชื่อแพงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจริยวิบัติ แนวร่วมการเงินฯ เห็นว่า หากพิจารณาจากการบังคับใช้กฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับนิติบุคคลที่มีมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว ยังไม่ปรากฏว่ากฎหมายนี้ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นแต่อย่างใด 

ในทางตรงกันข้าม การให้สิทธิลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้มี ‘ชีวิตใหม่’ จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เองด้วย เพราะเมื่อลูกหนี้ฟื้นตัวได้แล้วก็จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของนานาประเทศที่ให้การคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ 

“เราเชื่อว่าหากสามารถผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ นอกจากจะเป็นผลดีต่อลูกหนี้แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน” สฤณีกล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.ปาริชาต มั่นสกุล ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด อดีตผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง และอดีตเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี กล่าวถึงหัวใจของกระบวนการล้มละลาย 3 ประการ คือ หนึ่ง-เจ้าหนี้ต้องได้รับการชำระอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม สอง-ลูกหนี้ต้องมีโอกาสปลดเปลื้องภาระหนี้สินและสามารถรีสตาร์ทได้ และ สาม-เศรษฐกิจโดยรวมต้องเดินหน้าต่อไปได้

“นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิดรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง ฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวให้ดี ใช้กระบวนการล้มละลายเฉพาะกรณีที่เหมาะสม และทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว”

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องการแก้ไขกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจให้แก่บุคคลทั่วไปมีความพยายามในการผลักดันมานาน แต่ยังไม่บรรลุผล โดยขณะนี้ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับกฤษฎีกา) ภายใต้หลักการและเหตุผลว่า ลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรได้รับโอกาสเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับการฟื้นฟูกิจการปกติ โดยมีระยะเวลาดำเนินการที่สั้นกว่า ซับซ้อนน้อยกว่า และให้ลูกหนี้ยังคงเป็นผู้บริหารกิจการตามแผนนั้นเอง อีกทั้งได้กำหนดจำนวนหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน นอกจากนี้ ได้กำหนดกลไกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แบบเร่งรัดเพื่อใช้เป็นทางเลือกให้แก่ลูกหนี้ทั้งสองลักษณะดังกล่าวด้วย

ขณะเดียวกัน การจะผลักดันให้กลไกดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจนั้น ควรต้องมีการพัฒนาแนวทางที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้รายย่อยควบคู่กัน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด หากผลักดันกฎหมายฉบับนี้สำเร็จ ย่อมเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายโดยทั่วกัน

ติดตามงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง ‘การแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลายเพื่อ ‘ชีวิตใหม่’ หลังโควิด-19’ ร่วมจัดโดย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย และ สภาองค์กรของผู้บริโภค

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00-15.30 น. Live ผ่านแฟนเพจ Fair Finance Thailand