In Bangkok

กทม.ถกคณะผู้บริหารกำชับรับมือน้ำเหนือ คาด10-11ต.ค.นี้ระดับน้ำขึ้นสูงสุด



กรุงเทพฯ-กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม.คาดการณ์สภาวะระดับน้ำสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยา หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ เดือน ต.ค. 64 น้ำขึ้นเต็มที่สูงสุด 2 วัน คือ วันที่ 10 ต.ค. 64 เวลา 09.19 น. ระดับ 1.19 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และวันที่ 11 ต.ค. 64 เวลา 20.01 น. ระดับ 1.19 ม.รทก.

(7 ต.ค. 64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2564 ผ่านระบบประชุมทางไกล (Teleconference) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ในที่ประชุม สำนักการระบายน้ำได้รายงานสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน โดยวานนี้ (6 ต.ค.) ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 3,104 ลบ.ม./วินาที ในวันนี้ 3,051 ลบ.ม./วินาที (ลดลง 53 ลบ.ม./วินาที)  คาดการณ์สภาวะระดับน้ำสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยา หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ เดือน ต.ค. 64 น้ำขึ้นเต็มที่สูงสุด 2 วัน คือ วันที่ 10 ต.ค. 64 เวลา 09.19 น. ระดับ 1.19 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และวันที่ 11 ต.ค. 64 เวลา 20.01 น. ระดับ 1.19 ม.รทก. ทั้งนี้ ได้เตรียมพร้อมรับน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน โดยตรวจสอบจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 78.93 กม. และได้ซ่อมแซม จำนวน 27 จุด เรียงกระสอบทราย ในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ ความยาวรวม 2,918 เมตร จากการสำรวจพบว่ามีจุดรั่วซึมบริเวณแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 จุด ได้แก่ บริเวณท่าเรือเทเวศร์ และบริเวณศาลเจ้าโรงเกือก ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการแก้ไขโดยการเรียงกระสอบทราย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ยังเตรียมสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี กำลังสูบรวม 1,238 ลบ.ม./วินาทีให้พร้อมทำงานตลอดเวลา พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำเหนือกับกรมชลประทาน และกำหนดเกณฑ์การร่วมบริหารจัดการน้ำผ่านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และส่งเจ้าหน้าที่ตรวจตราทุกชั่วโมง พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในจุดที่คาดว่าจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าท่วมพื้นที่ 

ด้านการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่ กทม. นั้น  มีการเตรียมความพร้อมระบบท่อระบายน้ำ โดยดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อ 3,348 กม. แก้ไขเศษวัสดุจากงานก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ 377 จุด เตรียมความพร้อมระบบคลอง ดำเนินการขุดลอกคลอง 130 คลอง ความยาว 270 กม. เก็บขยะผักตบชวา เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เปิดทางน้ำไหล 1,528 คลอง 1,601 กม. เตรียมความพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งสถานีสูบน้ำ 190 แห่งและบ่อสูบน้ำ 329 แห่ง แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม  ปี 63 จาก 14 จุด เหลือ 12 จุด โดยมีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะแล้ว เสร็จพร้อมใช้งานในฤดูฝนปีนี้ จำนวน 17 โครงการ ได้แก่ บ่อสูบน้ำ 5 แห่ง Pipe Jacking 1 แห่ง แก้มลิง 2 แห่ง Water bank 2 แห่ง และปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 7 แห่ง

ในส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือฝนมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ทั้งการลอกท่อระบายน้ำ ตรวจสอบท่อระบายน้ำไม่ให้มีขยะหรือเศษวัสดุกีดขวางทางน้ำไหล ทำความสะอาดคูคลองเพื่อเปิดทางน้ำไหลจัดเก็บขยะวัชพืชในพื้นที่ ตรวจสอบประสิทธิภาพของสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำให้พร้อมใช้งานได้ทุกสถานี รวมทั้งได้ลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆ เตรียมพร้อมรองรับการระบายน้ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม และสำรองเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ (mobile unit) ในกรณีฉุกเฉินหรือไฟฟ้าดับ อีกทั้งเตรียมกระสอบทรายสำหรับแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองต่างๆ รวมถึงมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมบูรณาการความร่วมมือป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้สำนักงานเขตสำรวจจำนวนประชาชน อาคารบ้านเรือน ในชุมชน ที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงประชาชนในชุมชนริมคลองต่างๆ ทั้งที่เป็นชุมชนจัดตั้งหรือไม่ใช่ชุมชนจัดตั้ง และชุมชนอ่อนไหวในพื้นที่ 50 เขต ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งโดยเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ อาทิ การมอบถุงยังชีพ ยารักษาโรค หรือยาป้องกันโรคน้ำกันเท้า เป็นต้น นอกจากนี้ให้มีการตรวจดูแนวคันกั้นน้ำที่เป็นกำแพงอิฐบล็อค ท่าเทียบเรือ ให้มีความมั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งกำชับให้สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่างเต็มที่ และให้มีการจัดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในระหว่างฝนตก เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน นอกจากนี้หากคูคลองไหนที่น้ำไม่เน่าเหม็นและมีความเหมาะสม ให้ดำเนินการปรับเป็นแก้มลิงรับน้ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ ให้เขตที่รับการจัดสรรงบประมาณในการจัด STOP LOG (แผงกั้นน้ำหรือผนังป้องกันน้ำแบบถอดเก็บได้) เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว