In Thailand

จัดกิจกรรมจิตอาสาและทำความสะอาด ศาสนสถาน



จังหวัดร้อยเอ็ด - จัดกิจกรรมจิตอาสาและทำความสะอาดศาสนสถาน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(วันที่ 18 ตุลาคม 2564)  เมื่อเวลา 10.00 น. นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานจัดกิจกรรมจิตอาสาและทำความสะอาดศาสนสถาน ณ วัดไตรภูมิ บ้านผือฮี ตำบลดงแดง อำเภอจตุรพักตรพิมาน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 18 ตุลาคม 2564 โดยมีประชาชนจิตอาสาจากทุกภาคส่วนในจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมกิจกรรม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาวิชาการแขนงต่าง ๆ ทั้งด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวิทยาการสมัยใหม่ของอารยชาติตะวันตก  ทรงมีพระบรมราโชบายในการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ทรงเปิดประเทศให้สามารถมั่นคงดำรงเอกราชอยู่ได้ในภาวะ ที่อิทธิพลของจักรวรรดินิยม ในด้านกฎหมาย ได้มีพระบรมราชโองการ หรือ ประกาศ กฎหมายต่าง ๆ ออกมา เป็นจำนวนมากเพื่อความผาสุก และให้ความเป็นธรรมแก่อาณาประชาราษฎร์ อาทิ การลดภาษีอากร ยกเลิกการเก็บอากรตลาด  ออกพระราชบัญญัติกำหนดใช้ค่าที่ดินให้ราษฎรเมื่อมีการเวนคืน กำหนดลักษณะของผู้ที่จะถูกขายเป็นทาสให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น ในด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ได้ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก โดยยึดหลักการประนีประนอมด้วยวิถีทางการทูต ได้ทรงทำสัญญาทางไมตรีและการค้าในลักษณะใหม่ กับอังกฤษเป็นชาติแรก คือ สนธิสัญญาเบาริ่ง เมื่อพุทธศักราช 2398 และกับชาติอื่น ๆ ในลักษณะ เดียวกันในเวลาต่อมา ในด้านเศรษฐกิจการค้า ได้โปรดให้ยกเลิกระบบการค้าแบบผูกขาดของทางราชการไทย แต่เดิม และแบบบรรณาการกับจีน มีพระราชดำริปรับปรุงระบบเงินตราของไทยให้ได้มาตรฐาน โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงกษาปณ์ขึ้น และประกาศพิกัดอัตราแลกเปลี่ยนเงินเพื่อช่วยให้การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าได้คล่องและเป็นสากลขึ้น ในด้านการทหาร ได้โปรดให้มีการจัดระเบียบทหารใหม่ และมีการฝึกทหาร ตามแบบอย่างตะวันตก ตลอดจนได้โปรดให้มีตำรวจนครบาลขึ้นเป็นครั้งแรก ในด้านการพระศาสนา ทรงทำนุบำรุง และบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นอย่างมาก ทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ วัด ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุ ทรงส่งสมณทูต ไปลังกา ทรงกวดขันความประพฤติของภิกษุ สามเณร ให้อยู่ในพระธรรมวินัย ตลอดจนได้ทรงนำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีต่าง ๆ ได้พระราชทานเสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน ในด้านการศึกษาศิลปวิทยา ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน รวมทั้งทางด้าน ดาราศาสตร์ เทียบเท่านักดาราศาสตร์สากล ทรงสามารถคำนวณสุริยุปราคาเต็มดวง ในพุทธศักราช 2411 ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เป็นที่เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์นานาชาติ ส่วนการศึกษาของอาณาประชาราษฎร์ พระองค์ได้ทรงพัฒนาการศึกษาทั้งของข้าราชสำนัก และประชาชนทั่วไป ทรงใส่พระทัยกวดขันคนไทยให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ทรงสนับสนุนโรงเรียนของหมอสอนศาสนาที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษา อรรถคดี และวิทยาการของชาติตะวันตก และทรงพระกรุณาส่งข้าราชการระดับบริหารไปศึกษางานที่จำเป็น สำหรับราชการไทย ณ ต่างประเทศ และให้จัดตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2401 เรียกว่า "โรงอักษรพิมพการ" ทำหน้าที่ผลิต ข่าวสารของทางราชการเพื่อเผยแพร่ให้ราษฎรได้ทราบทั่วถึงกัน มีลักษณะอย่างหนังสือพิมพ์ข่าว ใช้ชื่อว่า "ราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งยังคงมีอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา คือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

และกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสนองพระราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริ "เราทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" ด้วยทรงมุ่งหวังให้ให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าสามัคคีปรองดอง และมีส่วนร่วมประกอบกิจกรรมสาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขของชุมชนส่วนรวม สังคม และเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้มีความรัก ความผูกพัน ใน 4 สถาบันหลักของชาติ คือ สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ตลอดจนเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ตลอดรัชสมัยที่พระองค์ทรงครองราชย์ฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานับประการ เพื่อความผาสุกของประชาราษฎร์ และประเทศไทย ด้วยพระเมตตา และพระปรีชาสามารถ ทรงพระราชทานมรดกทางปัญญา มาสู่ปวงชนชาวไทย