In Global
ผู้นำ-จนท.ตปท.เกี่ยวข้องสภาพอากาศ แสดงทรรศนะ'ปฏบัติการทั่วโลกปี2021'
จีน-ผู้นำ-เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ร่วมแสดงทรรศนะ ในรายการ “ปฏิบัติการทั่วโลกปี 2021” ของ CMG สื่อหลักจีน เพื่อตอบรับการประชุมCOP26 ถกประเด็น Climate Change สหประชาชาติ
เพื่อสนับสนุนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองกลาสโกว์ ศูนย์ข่าวประจำอเมริกาเหนือของไชน่ามีเดียกรุ๊ป(CMG) นำเสนอรายการพิเศษ “ปฏิบัติการทั่วโลกปี 2021” รายงานความคืบหน้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านต่างๆ รวบรวมเสียงจากผู้กำหนดนโยบายระดับโลก ผู้สังเกตการณ์และกลุ่มเยาวชนทั่วโลก ใช้แพลตฟอร์มด้านสื่อของตนร่วมเรียกร้องส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นอเมริกาเหนือ รายการพิเศษนี้ของไชน่ามีเดียกรุ๊ปได้เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการแล้ว
นายเซิ่น ไห่สง รองหัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้อำนวยการและบรรณาธิการใหญ่ไชน่ามีเดียกรุ๊ป(CMG) ได้กล่าวในพิธีเปิดตัวรายการพิเศษนี้ โดยยกตัวอย่างเรื่องมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน และเป็นที่แรกที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เอ่ยถึงแนวคิด “น้ำใสภูเขาเขียว ก็คือภูเขาเงินภูเขาทอง” เขาเล่าว่า ช่วงเวลาที่เขาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวนั้นได้เดินทางไปทั่วมณฑลเจ้อเจียง และได้เห็นถึงความมหัศจรรย์แห่งการพัฒนาที่ยืนหยัดการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องมาก่อน รวมถึงการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากแนวคิด “น้ำใสภูเขาเขียว ก็คือภูเขาเงินภูเขาทอง” นั่นเอง
ขณะเดียวกัน นายเซิ่น ไห่สงยังระบุว่า ประเทศจีนยึดหลักร่วมเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์และผู้ปฏิบัติตาม “ข้อตกลงปารีส” มาโดยตลอด ปัจจุบัน วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศของโลกกำลังส่งสัญญาน “ไฟแดง” การสร้างสรรค์ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันจึงต้องทวีความเร่งด่วนยิ่งขึ้น นายเซิ่น ไห่สง เรียกร้องให้สื่อมวลชนทั้งหลายร่วมแบกรับภาระหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทั่วโลกด้านสภาพภูมิอากาศ ยกระดับความรู้และความสำคัญการสร้างสรรค์อารยธรรมนิเวศวิทยาของสาธารณชน ปูพื้นฐานทางความคิดของประชาชนในการเข้าร่วม รวมถึงสร้างบรรยากาศที่ร่วมกันจับตามองการลงมือปฏิบัติจริงด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
ในรายการพิเศษของ CMG ได้มีการกล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของผู้นำ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปได้ดังนี้
Julius Maada Bio ประธานาธิบดีเซียร์ราลีโอน กล่าวผ่านทางวิดีโอว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญและโลกจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ในขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังคงทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาของ "ผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ" ก็ทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งเซียร์ราลีโอน ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
โดย Bio กล่าวอีกว่า เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องยึดมั่นในความร่วมมือระหว่างประเทศ ปฏิบัติตามหลักพหุภาคี และปัญหาต่างๆ เช่น ความยากจน ความรุนแรง และความอยุติธรรมทางสังคมต้องได้รับการแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน
แคทรีน ยาคอบส์ดอทตรี (Katrin Jakobsdottir) นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ ระบุ “เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ฉันเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ แม้ว่ากิจกรรมของมนุษย์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉันยังเชื่อว่ามนุษย์สามารถปรับปรุงสิ่งนี้ได้ด้วยความพยายามของพวกเราเอง”
อับดุลลาห์ ชาฮิด ประธานการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) สมัยที่ 76 กล่าว “สัญญาณที่ปล่อยออกมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกนั้นชัดเจนมากแล้ว ตราบใดที่บุคคลหนึ่งในโลกไม่ปลอดภัย ทุกคนก็จะไม่ปลอดภัยเช่นกัน โลกของเราล้วนเชื่อมต่อกัน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราทุกคนเจริญรุ่งเรือง ก็เป็นไปด้วยกัน เมื่อเราสูญเสีย เราก็สูญเสียด้วยกัน ไม่มีใครดูแลตัวเองได้เพียงลำพัง”โดยคำกล่าวของอับดุลลาห์ ชาฮิดมีนัยว่า ทุกคนต้องดูแลกันและกัน ดูแลโลกร่วมกัน
Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้มีมาตรการเชิงนโยบาย เช่น การเพิ่มราคาคาร์บอนทั่วโลก และการยกเลิกเงินอุดหนุนคาร์บอนเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกไปสู่แบบจำลองคาร์บอนต่ำ
โดย Georgieva เชื่อว่าราคาคาร์บอนเฉลี่ยจะต้องเพิ่มขึ้นจาก 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปัจจุบันเป็น 75 เหรียญสหรัฐต่อตันก่อนปี 2030
“ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกควรเสริมความแข็งแกร่งให้กับการกำหนดนโยบายและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไปสู่รูปแบบคาร์บอนต่ำ กองทุนการเงินระหว่างประเทศและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมีแนวทางนโยบายที่แนะนำ 2 ทิศทาง ได้แก่ ยกเลิกการอุดหนุนคาร์บอน ส่งเสริมการกำหนดราคาคาร์บอน และเพิ่มการประเมินต้นทุนโดยรวมที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งสัญญาณถึงผู้บริโภค”
Juergen Voegele รองประธานฝ่ายกิจการการพัฒนาที่ยั่งยืนของธนาคารโลก กล่าวว่า “เราตระหนักมากขึ้นว่า เมื่อเทียบกับวิธีการพัฒนาแบบดั้งเดิม การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณต่ำลง สามารถสร้างงานให้กับผู้คนได้มากขึ้น วิธีการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่สามารถสร้างงานที่ดีขึ้นและดีขึ้นได้ และรับประกันการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เรื่องราวการพัฒนาของศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องราวของการพัฒนาสีเขียว”
YASMINE FOUAD รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศอียิปต์ ระบุว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศนั้นร้ายแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นการกัดเซาะของชายฝั่งหรือผลกระทบต่อการเกษตร แม้ว่าอียิปต์จะไม่ใช่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
“เราต้องรับผิดชอบตามข้อตกลงที่เราได้บรรลุเสียก่อน ถึงจะสามารถช่วยโลกได้ เราไม่มีตัวเลือกอื่น และไม่มีแผน B ด้วย”
GUSTAVO MANRIQUE รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมประเทศเอกวาดอร์ ได้เล่าความพยายามของเอกวาดอร์ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้อ้างอิงรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) โดยกล่าวว่า “ราคาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือมนุษยชาติ ” ดังนั้น Manrique จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันเพื่อไม่ให้พลาดเวลาที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยความร่วมมือด้านสภาพอากาศระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ถือเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินการด้านสภาพอากาศทั่วโลกมาโดยตลอด ในรายการพิเศษของ CMG ฉิน กัง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้สนทนาพิเศษกับเยาวชนชาวจีนและชาวอเมริกัน เขากล่าวถึงเป้าหมายของจีนเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูงสุด และหลังจากนั้น จีนจะดำเนินการนโยบายเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงแผนปฏิบัติการต่างๆ ที่ประกาศใช้เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทัศนคติเชิงบวกของจีนในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความรับผิดชอบในฐานะประเทศใหญ่
ฉิน กัง ยังกล่าวอีกว่าจีนกำลังพัฒนายานยนต์พลังงานใหม่อย่างจริงจัง และสนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้มาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงความมุ่งมั่นเชิงกลยุทธ์ในการปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคง
ในการตอบคำถามของเยาวชนชาวจีนและชาวอเมริกัน ฉิน กัง ยังแนะนำให้เยาวชนของทั้งสองประเทศเห็นประเด็นสำคัญของธรรมาภิบาลสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน
“เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในการพัฒนา ก็เหมือนกับการทำข้อสอบ แต่ละการสอบก็มีเกรดมีคะแนนแตกต่างกันไป จีนและสหรัฐอเมริกาควรตอบข้อสอบของตนเอง การทดสอบเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สหรัฐฯถือว่าเป็นนักเรียนที่แข็งแกร่งมาก แต่ในระหว่างนั้นก็โดดเรียนและถอนตัวจาก ข้อตกลงปารีส”เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ กล่าว
------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล:
https://content-static.cctvnews.cctv.com/snow-book/index.html?item_id=18257087610307766306&toc_style_id=feeds_default&fbclid=IwAR29CHvAkRCywa9S1RUqkkTjuVuZGjWm0n6pVgRKwb125Vjyn9gJrppUJSo
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=372371747964712&id=117547923447097
#จีน #COP26 #สหประชาชาติ #UN #ClimateChange #CCTV #CGTN #CMG