In News

กมธ.กีฬาเผย'วาดา'ลงโทษกีฬาไทย1ปี จี้เร่งแก้ไขปัญหาการใช้สารต้องห้าม



ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร แนะรัฐควรขออุทธรณ์การลงโทษจาก “วาดา” ระบุคณะ กมธ.กีฬาฯ พร้อมเต็มที่ในการขับเคลื่อนแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา พ.ศ.2555 เพื่อให้สอดคล้องกับ ธรรมนูญการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกฉบับปี 2021 ทันที

กรณี “วาด้า” องค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก ออกแถลงการณ์ว่าไม่ให้การรับรอง เกาหลีเหนือ, อินโดนีเชีย และประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพและเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค ทวีปหรือระดับโลก เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งประเทศไทยถูกแบนเพราะไม่ทำตามข้อบังคับหรือธรรมนูญของ “วาด้า” แม้จะสามารถส่งนักกีฬาแข่งขันได้ แต่กลับไม่สามารถแข่งขันภายใต้ธงชาติไทยได้ในมหกรรมกีฬาทุกชนิด ยกเว้นในโอลิมปิกเกมส์ จนกว่าจะมีการยกเลิก

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ส.ส.ราชบุรี เขต 5 พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กรณีความเคลื่อนไหวของ “วาด้า” คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ติดตามตลอด และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาเป็นเรื่องด่วน ซึ่งได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมชี้แจง ได้แก่ ดร.ก้องศักดิ์  ยอดมณี  ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย นายแพทย์มีชัย อินวู๊ด ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย  นางสาวธำรงลักษณ์  ลาพินี กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมาการกฤษฎีกา นายปรัชญา  เจียสกุล นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ นายแพทย์วารินทร์  ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพลเรือเอกอภิวัฒน์  ศรีวรรธนะ รองเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

“ที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณาปัญหาทราบว่า เหตุที่ตัดสิทธิ์ไทย 1 ปี เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กรในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย (World Anti-Doping Code 2021) ซึ่งไทยโดนลงโทษใน 4 กรณี ได้แก่ 1. ไทยจะไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการ และรับทุนสนับสนุนจาก WADA ได้, 2. ผู้แทนรัฐบาลไทยที่เป็นกรรมการในสหพันธ์กีฬานานาชาติ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1ปี, 3. ไทยจะไม่สามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ ระดับภูมิภาค ทวีป และโลกที่เป็นเกมส์กีฬาที่มี WADA รับรองการแข่งขัน (ยกเว้นโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์) โดยข้อนี้จะเกิดผลกระทบในการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ต เกมส์ เดือนมีนาคม 2565 และ 4. ห้ามใช้ธงชาติไทย เพลงชาติไทย ในพิธีมอบเหรียญรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ที่ WADA รับรองการแข่งขัน โดยข้อนี้จะเกิดผลกระทบในการที่นักกีฬาไทย จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565  และหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหา จะส่งผลให้ทุกสมาคมกีฬา ไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติได้”

ดร.บุญลือกล่าวว่า ประเด็นที่ประเทศอื่นๆ ถูกลงโทษ คือการละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎของ WADA ในการตรวจสารต้องห้ามไม่ครบถ้วน แต่ในกรณีของประเทศไทยเป็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศที่ไม่สอดคล้องกับ WADA ซึ่งในประเด็นการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศของไทยให้สอดคล้องกับกฎของ WADA นั้น ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นว่า กฎการใช้สารต้องห้ามของ WADA เป็นกฎที่ออกด้วยองค์กรเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายในลำดับรองให้สอดคล้องกับกฎของ WADA แต่ปัญหาสำคัญคือ WADA จะมีการปรับปรุงกฎแทบทุกปี โดยมีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎของ WADA ได้ทัน

“โดยเฉพาะกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักนั้น มีขั้นตอนการพิจารณาและต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งหากพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนในการออกเป็นพระราชกำหนด ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ จะต้องพิจารณาจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนการตราเป็นกฎหมายตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญนั้น อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็น เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป” ดร.บุญลือกล่าว

ทั้งนี้ จากการได้รับมอบหมายให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงประเด็นต่าง ๆ ของกฎหมายเพื่อรองรับและสอดคล้องกับกฎของ WADA ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 อาทิ บทนิยาม บทกำหนดโทษ ความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสารต้องห้าม และประเด็นอื่น ๆ เพื่อปลดล็อคให้มีการแก้ไขกฎหมายได้ง่ายขึ้น เช่น การเพิ่มอำนาจรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการ ทางคณะทำงานแก้ไขกฎหมายของกฤษฎีกา ได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการประชุมสรุปเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬาของไทย ในวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคมศกนี้

ดร.บุญลือ กล่าวต่อว่า ในส่วนของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการส่งนักกีฬาไปแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ในนาม “ทีมชาติไทย” ได้รับผลกระทบไม่มากนักต่อกรณีนี้ แต่มิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และได้บูรณาการการทำงาน ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆให้ลุล่วง โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างใกล้ชิด

“ที่ประชุมมีมติให้การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมกันดำเนินการเสนอกฎหมายสารต้องห้ามฯ อย่างเร่งด่วนภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และขอให้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการขออุทธรณ์การลงโทษจาก WADA พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีความรวดเร็วที่สุด หรือแม้แต่หากมีเหตุผลและช่องทางในการอุทธรณ์ไปถึงอนุญาโตตุลาการหรือศาลโลกก็ควรดำเนินการ โดยในส่วนของคณะกรรมาธิการกีฬา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการยกร่างและแก้ไขกฎหมายกีฬาโดยตรงอยู่แล้วก็พร้อมที่จะช่วยผลักดันให้มีการออกกฎหมายสารต้องห้ามฯ อย่างเต็มที่ และจะทำให้เร็วที่สุด ลดขั้นตอนการพิจารณากฎหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยตรง” ดร.บุญลือกล่าวในที่สุด