In News
รองอธิบดีกรมชลฯติดตามอ่างซับกระจาย รับมือภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร
กรุงเทพฯ-รองอธิบดีกรมชลฯ ติดตามโครงการอ่างฯชับกระจาย เร่งบรรเทาแล้งลุ่มน้ำลำเชียงไกร เผยพื้นที่บริเวณนี้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากมีแหล่งน้ำกักเก็บน้ำไม่เพียงพอ
วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2563) นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านชับกระจาย พร้อมระบบส่งน้ำ โดยมี นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายพงศ์ฤทธิ์ ชื่นอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 8 ร่วมให้การต้อนรับพร้อมบรรยายความก้าวหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านซับกระจายพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลกฤษณา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยรองอธิบดีกรมชลประทานได้ให้ข้อเสนอแนะในการวางแผนการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปปรับใช้ในงานก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินโครงการ
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ ว่า สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านชับกระจาย พร้อมระบบส่งน้ำ เป็นโครงการหนึ่งใน 13 โครงการ ตามแผนแม่บทการพัฒนาแหล่งน้ำ และแผนแม่บทการผันน้ำลุ่มน้ำลำเชียงไกร มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 144.59 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุม 4 ตำบล 2 อำเภอ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ตำบลหนองหญ้าขาว ตำบลกฤษณา ตำบลวังโรงใหญ่ ในเขตอำเภอสีคิ้ว และตำบลหินดาด ในเขตอำเภอด่านขุนทด ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากมีแหล่งน้ำกักเก็บน้ำไม่เพียงพอ
“กรมชลประทานได้มีการดำเนินการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำผิวดินที่จะสำรองน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพ และเต็มศักยภาพของปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานคืบหน้าไปแล้วกว่า 20% ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ตรงตามหลักวิศวกรรม โดยจะต้องมีการทดสอบวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ของงานก่อสร้างก่อนการใช้งาน พร้อมทั้งควบคุมและตรวจสอบคุณภาพงานเข้มข้น เพื่อให้การดำเนินโครงการ ประสบผลสำเร็จตรงตามแผนงานที่ได้วางไว้ ประชาชนสามารถได้รับประโยชน์ได้โดยเร็ว” นายประพิศกล่าว