Travel Sport & Soft Power

สสส.-สธ.-เครือข่ายลดบริโภคเค็มตั้งเป้า รวมพลังลดกินเค้ม30%ในปี2568



กรุงเทพฯ-สสส.-สธ.-เครือข่ายลดบริโภคเค็ม รวมพลัง “ลดเค็มทำได้” ตั้งเป้าคนไทยกินเค็มลด 30% ภายในปี 2568 ม.มหิดล ย้ำชัดคนไทยติดเค็มทุกภาค เยอะสุดภาคใต้ กินเค็ม 4 กรัม/วัน พร้อมชวนคนไทยเข้า “คอร์สเปลี่ยนลิ้น 21 วัน”  ด้าน WHO เชื่อหากรัฐหนุนไทยทำได้ เผยปัจจุบันเด็กไทยบริโภคเกลือมากเกินไป

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว การขับเคลื่อน “ลดเค็มทำได้” ในประเทศไทย ประจำปี 2563 โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม เครือข่ายลดการบริโภคไขมัน เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่าย NCDs และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ โดยผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากปัจจัยเสี่ยงด้านการบริโภคอาหาร เสริมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติป้องกันและควบคุมโรค NCDs รวมทั้งสื่อสารให้ความรู้ประชาชนถึงโทษของการบริโภค “หวาน มัน เค็ม” เกินพอดี

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 คือ ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 สถานการณ์การบริโภคโซเดียมที่ล้นเกินของประชาชนไทย ทำให้เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปสู่การป่วย การเสียชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการและแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อสนับสนุนแผนบริการของกระทรวงสาธารณสุข    ในการลดโรค  NCDs รวมถึงโรคไตวายระยะสุดท้ายของประชาชนไทย

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตกว่า 500,000 คน การจัดกิจกรรมครั้งนี้เครือข่ายฯ ร่วมกับ สสส. และบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด จัดทำภาพยนตร์สั้น เพื่อรณรงค์ลดเค็ม ในเรื่อง “คำรักลิขิตสาป” นำแสดงโดยหนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์ เต๋า-สโรชา วาทิตตพันธ์ และจอย-ชลธิชา นวมสุคนธ์ และ “คอร์สเปลี่ยนลิ้น 21 วัน (21 Days Sodium Lesstaurant”) มีร้านอาหารที่เข้าร่วม 21 ร้านและเปิดเมนูลดเค็มทำได้ง่าย ๆ พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปมาเลือกเมนูเพื่อปรับลิ้นลดเค็ม ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมาตรการในการรณรงค์ให้คนไทยลดการบริโภคเค็ม อาทิ ฉลากโภชนาการ บอกค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แต่ยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เครือข่ายลดบริโภคเค็ม จึงร่วมกับ สสส. กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเก็บภาษีความเค็มขึ้นในปี 2564

พญ.ดร.เรณู การ์ก  เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) สำนักงานผู้แทนองค์อนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคโซเดียมมากเกินไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะโซเดียมเป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบตัน และไตวาย รวมทั้งโรคเรื้อรังชนิดอื่น  โรคเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งภาวะทุพพลภาพ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่าทุกคนควรจำกัดปริมาณการบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มก. อย่างไรก็ตาม มีผลงานวิจัยมากมายในประเทศไทยที่บ่งชี้ว่า ปริมาณโซเดียมที่คนไทยบริโภคสูงกว่าเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกถึงสองเท่า  ล่าสุด ผลการสำรวจล่าสุดระบุว่าปริมาณการบริโภคโซเดียมอยู่ที่ 3.6 กรัม  และสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ เด็กไทยบริโภคเกลือมากเกินไป  โดยเฉลี่ย เด็กไทยบริโภคโซเดียมมากถึง 3,194 มก. ต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการบริโภคที่สูงเกินกว่าเกณฑ์แนะนำสำหรับกลุ่มเด็กมาก  ยิ่งกว่านั้น ปริมาณโซเดียมที่เด็กไทยบริโภคถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ซึ่งทำให้เยาวชนตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคไตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่  ดังนั้น เราต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมทั้งในผู้ใหญ่ และเด็ก

เจ้าหน้าที่ WHO แนะนำต่อว่า ให้บริโภคโซเดียมไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา หรือคิดเป็นปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ปัจจุบันคนไทยบริโภคเกินกว่า 2 เท่า หากรัฐบาลผลักดันนโยบายเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูงเกินมาตรฐาน โดยเก็บภาษีผลิตภัณฑ์บรรจุหีบห่อ และผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับรูปแบบอาหารบรรจุหีบห่อให้มีโซเดียมน้อยลง จะช่วยปกป้องสุขภาพของประชาชน และลดความเสี่ยง NCDs จากการบริโภคโซเดียมมากเกินความพอดีได้สำเร็จ

ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมในประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ประชากรไทย 2,388 อายุเฉลี่ย 43 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 53 และมีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 30 โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา โดยปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยเยอะที่สุดในภาคใต้ 4,108 มก./วัน, รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,316 มก./วัน, กรุงเทพมหานคร 3,496 มก./วัน, ภาคเหนือ 3,563 มก./วัน และภาคกลาง 3,760 มก./วัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดคลิปวิโอสั้นเรื่อง “คำรักลิขิตสาป” และเข้าร่วม “คอร์สเปลี่ยนลิ้น 21 วัน (21 Days Sodium Lesstaurant”) ได้ที่เว็บไซต์ www.lowsaltthai.com