In Bangkok

5โครงการ'พื้นเมืองเชื่อมย่านสานอนาคต' กทม.แจงไม่เข้าขายต้องทำEIA



 กรุงเทพฯ-สำนักการโยธา-สำนักการสิ่งแวดล้อม กทม.แจง 5 โครงการ “ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต” ไม่เข้าข่ายต้องทำ EIA พร้อมเปิดรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่าง ๆ ของ กทม.ตามแนวคิดการ “ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต” ยังเข้าถึงได้ยากและไม่มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่า การ “ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต” (Regenerative Bangkok) เป็นการเชื่อมย่านสำคัญต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ผ่าน 5 โครงการนำร่อง เพื่อฟื้นฟูโครงข่ายคลอง ถนน ทางเท้า และพื้นที่สีเขียว ประกอบด้วย โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม โครงการปรับปรุงถนนพระรามที่ 1 โครงการปรับปรุงถนนสีลม และโครงการปรับปรุงสวนลุมพินี ซึ่งในส่วนของสำนักการโยธารับผิดชอบดำเนินโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เพื่อให้เป็นคลองต้นแบบที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และปลอดภัยภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยจะก่อสร้างสวนสาธารณะบริเวณคลองช่องนนทรี ระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร ขณะที่โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงจากสะพานเจริญสวัสดิ์ - สะพานกษัตริย์ศึก ระยะทางประมาณ 1.25 กิโลเมตร เน้นการจัดระเบียบทางเท้า เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเป็นทางเท้าผสมผสานกับการเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้พักผ่อน

สำหรับโครงการปรับปรุงถนนพระรามที่ 1 และโครงการปรับปรุงถนนสีลม ก่อนเริ่มดำเนินโครงการปรับปรุงถนนพระรามที่ 1 และโครงการปรับปรุงถนนสีลม กรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย เพื่อรวบรวมข้อมูลลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ โดยทั้ง 4 โครงการเป็นงานที่ไม่เข้าข่ายโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการใดที่จะต้องจัดทำรายงาน EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงาน EIA และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงาน EIA ประกาศ ณ วันที่ 19 พ.ย.61 นอกจากนี้ ยังเป็นการก่อสร้างในแนวเขตทางสาธารณะเดิม มิได้มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน รวมถึงไม่กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย วิถีชีวิต หรือส่วนได้เสียกับชุมชนท้องถิ่น มิได้เป็นโครงการของรัฐที่มีผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนส่วนรวม จึงไม่เข้าข่ายต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อการรับรู้ของประชาชน จึงได้เปิดให้ประชาชนมีร่วมเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นที่มีต่อโครงการดังกล่าวได้อย่างเปิดกว้างผ่านช่องทางต่าง ๆ

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ในปี 2568 ซึ่งไม่อยู่ในข่ายที่ต้องจัดทำรายงาน EIA ตามประกาศดังกล่าวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้ใช้บริการ และผู้เชี่ยวชาญในมิติต่าง ๆ ทั้งแบบ Focus group และ Public talk รวมประมาณ 21 ครั้ง รวมถึงได้ผ่านการสรุปปัญหาและความต้องการต่าง ๆ ของโครงการ และสรุปเป็นแนวทางการออกแบบพื้นที่ส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ของประชาชนในสังคมเมือง โดยมีแนวคิดหลัก 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) History ออกแบบโดยคำนึงถึงมิติทางประวัติศาสตร์ เน้นคุณค่าและองค์ประกอบสำคัญต่าง ๆ สื่อความหมายด้วยการออกแบบและป้ายสัญลักษณ์ และปรับทางเดินแนวแกนกลางของสวน 2) Climate Resilience พัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โดยปรับปรุงระบบการจัดการน้ำ ทั้งน้ำเสียและน้ำฝน สร้างระบบระบายน้ำใต้ดินเพิ่ม เชื่อมท่อระบายน้ำรอบสวน เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำในสวน พร้อมมีระบบหมุนเวียนน้ำในบึงน้ำ 3) Cultural Integration ปรับพื้นที่สร้างกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมของเมืองให้เป็นพื้นที่การแสดงศิลปะและแหล่งเรียนรู้ ปรับพื้นที่เวทีการแสดงให้มีที่นั่งชมใต้ร่มไม้ พื้นที่เปิดกว้างสำหรับการจัดแสดงและสร้างสรรค์งานศิลปะ 4) Modern Recreation จัดสรรพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลายและเหมาะกับยุคสมัย และ 5) Inclusive Design การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ตามแนวคิด Universal Design เพื่อให้เป็นพื้นที่ของคนทุกเพศทุกวัยและคนพิการให้สามารถใช้สวนสาธารณะได้อย่างสะดวกเท่าเทียมกัน พัฒนาจุดเชื่อมต่อสวนลุมพินี สะพานเขียวและสวนเบญจกิติด้วยทางเดินและทางจักรยาน นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอิสระ ในการจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อดูแลสวนลุมพินีอย่างยั่งยืน