Biz news

“เมื่อใจสบายทุกข์ทางกายจะเบาบางลง มูลนิธิเอสซีจีมอบ21พื้นที่แห่งความสุข



กรุงเทพฯ-ในยามที่เราเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล นอกจากความเจ็บป่วยทางกายแล้ว สภาพจิตใจของหลายคนก็ป่วยตามกายไปด้วย คงจะดีไม่น้อยถ้าระหว่างรอรับการรักษาจะมีพื้นที่ที่ช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยให้สดชื่นเบิกบาน มีกำลังใจ มีความหวัง ขณะเดียวกันญาติผู้ป่วยก็สามารถนั่งรอและดูแลผู้ป่วยได้อย่างผ่อนคลาย

จากแนวคิดนี้จึงเป็นที่มาให้มูลนิธิเอสซีจีทำ โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ขึ้น โดยมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้าง พื้นที่พักคอย ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วประเทศ 21 แห่ง เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีในการมารับบริการในโรงพยาบาล ให้เป็นมากกว่าพื้นที่รักษาทางกาย แต่เป็นพื้นที่สร้างความสุขเพื่อช่วยฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัว

จุดเด่นของพื้นที่พักคอย 21 แห่งนี้คือการออกแบบแบบมีส่วนร่วม โดยเริ่มต้นจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้านพื้นที่ ผังแม่บท การวิเคราะห์ทางกายภาพ ครอบคลุมไปถึงความต้องการของทั้งโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ญาติ สถาปนิก นักออกแบบ ตลอดจนประชาชนที่ใช้งานพื้นที่จริง จนเกิดเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อให้ฟังก์ชันการใช้งานตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริงในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงบริบท ตลอดจนอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

นอกจากนี้ มูลนิธิเอสซีจียังเห็นถึงความต้องการใช้ห้องน้ำในพื้นที่ที่มีประชาชนเข้ามารับบริการจำนวนมาก จึงได้ทำ โครงการเติมรอยยิ้ม ซ่อมสุข(ควบคู่กันไป เพื่อปรับปรุงห้องน้ำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมีความปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม

การสร้างพื้นที่พักคอยและการปรับปรุงห้องน้ำในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ใช้งบประมาณรวมกว่า 52 ล้านบาท สร้างแล้วเสร็จครบ 21 แห่งในเวลา 2 ปี ในโอกาสนี้ จึงได้มีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก .เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เป็นผู้รับมอบ ส่งมอบโดย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายมาร่วมงาน ซึ่งนับว่างานนี้เป็นเวทีถ่ายทอดพลังแห่งความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสุขให้กับผู้คน ให้ทุกชีวิตที่ได้เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมีความสะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัย เป็นพื้นที่แห่งความสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ได้กล่าวในโอกาสนี้ว่า “เราคิดว่าโรงพยาบาลไม่ควรเป็นที่ที่มีแต่ความทุกข์ เราจึงต้องการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลให้เป็นที่ที่จะช่วยผ่อนเบาความทุกข์จากความเจ็บไข้ทางกาย ช่วยฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งในการออกแบบพื้นที่แห่งความสุขนี้ ทีมงานได้สอบถามพูดคุยกับผู้ใช้พื้นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมถึงคนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ว่าที่ที่ให้ความสุขกับเขาคืออะไร เป็นแบบไหน มีกิจกรรมอะไร ถือว่าเป็นการออกแบบแบบมีส่วนร่วมที่เรียกว่า Participatory Design อย่างแม้จริง และเป็นการน้อมนำพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 ที่ว่า เราต้องทำงานร่วมกับชาวบ้าน” มาปฏิบัติ เราเปรียบพื้นที่พักคอยนี้เป็นเสมือนรมณียสถาน หรือพื้นที่แห่งความสุข ที่จะทำให้ประชาชนที่มารับบริการจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มีความสะดวกสบายและสุขใจมากขึ้น

ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นความร่วมมือของมูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคีเครือข่ายสถาปนิก และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี โดยหน่วยงาน Cement and Construction Solution ที่มาร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในการมารับบริการ โดยเราได้นำเทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) มาใช้ เพื่อลดของเสีย ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย สำหรับการปรับปรุงห้องน้ำได้ขยายความร่วมมือไปยังพนักงานเอสซีจี ชมรมช้างปูน นักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 17 และ 29 ที่มาร่วมบริจาคสมทบทุน โดยมีคอตโต้เป็นผู้ออกแบบและปรับปรุงห้องน้ำ ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ซึ่งเราหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างความสุขใจให้ผู้ใช้บริการ เมื่อใจสบาย ความทุกข์ทางกายก็จะเบาบางลง พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่อยู่ดีมีสุขอย่างแท้จริง

นอกจากพิธีส่งมอบพื้นที่พักคอยและห้องน้ำแล้ว ภายในงานนี้ ยังมีการเสวนาพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย และโครงการเติมรอยยิ้ม ซ่อมสุข(า) ซึ่งแต่ละท่านได้ถ่ายทอดความรู้สึก ความประทับใจ และการมีส่วนร่วมในโครงการนี้

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมีเป้าหมายที่จะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชุมชนรอบข้าง ผู้ป่วย บุคลากร เจ้าหน้าที่ ต้องมีความสุข การสร้างพื้นที่แห่งความสุขของโครงการนี้นับว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายของโรงพยาบาล ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ช่วยกันคิดให้สอดค้องกับบริบทของพื้นที่ วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต ร่วมกันทักทอให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความสุขของทุกคน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

การที่เราได้คนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงๆ มาร่วมออกแบบ ทำให้สถาปนิกคิดนอกกรอบมากขึ้น ทุกคนมาช่วยเติมความคิดให้สถานิกออกแบบได้อย่างกลมกลืนและลงตัว ตรงกับความต้องการใช้งาน ทำให้เราได้เห็นรอยยิ้มของคนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งความสุขอย่างแท้จริง ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การเป็นคนในพื้นที่ทำให้เข้าใจวิถีชีวิตของผู้ใช้บริการ จากที่ได้พูดคุย คนในพื้นที่ยะหาส่วนใหญ่จะมีมิติความสัมพันธ์กับเครือญาติ เวลามีใครป่วย ญาติก็จะพากันมาเยี่ยม มาให้กำลังใจ และยังมีความเชื่อว่ากันว่าการมาเยี่ยมญาติจะผลบุญด้วย ทำให้บรรยากาศที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเต็มไปด้วยญาติ มีลูกเด็กเล็กแดงมาเล่น การออกแบบพื้นที่แห่งความสุขที่นี่จึงทำเป็นศาลาพักญาติ ทางด้านบุคลากรของโรงพยาบาลก็ต้องการพื้นที่ส่วนกลางที่จะมาพักรับประทานอาหารร่วมกัน จึงเกิดเป็นอาคารเรือนอุ่นใจศรีญาฮาขึ้นมา นายซัลมาน มูเก็ม จากสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน ผู้ออกแบบเรือนอุ่นใจศรีญาฮา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา

ในการก่อสร้าง เราทำงานพร้อมกันหลายพื้นที่ แต่โชคดีที่ซีแพคเซ็นเตอร์โซลูชันทำงานได้พร้อมกัน ในเรื่องเทคโนโลยีเราใช้ BIM มาก่อสร้าง ซึ่งทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่กำลังจะสร้างถูกต้องตามแบบที่วางแผนไว้หรือไม่ และการนำสิ่งก่อสร้างเข้าไปอยู่ในพื้นที่จริงก็ทำให้เห็นว่าวางแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ผู้ที่จะใช้งานสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการหรือไม่ BIM ทำให้งานก่อสร้างรวดเร็ว ขณะเดียวกันเราก็ใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การบินโดรนเพื่อเข้าไปดูในพื้นที่ หรือการใช้วัสดุที่ทำสำเร็จรูปจากภายนอกเข้ามาประกอบเพื่อรบกวนพื้นที่ให้น้อยที่สุด การนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้เราสิ้นเปลืองน้อย ผิดพลาดน้อย ประหยัดเวลา ได้งานที่ถูกใจ และสุดท้ายคนทำงานก็มีความสุข นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ Business Stakeholder Engagement Director Cement and Construction Solution Business

หัวใจสำคัญในการปรับปรุงห้องน้ำครั้งนี้ คือ ความสะอาด สะดวก ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ สวยงาม สุขภัณฑ์ที่ใช้จะมีความสูงพอเหมาะ มีอุปกรณ์ช่วยพยุงยึดไม่ให้ลื่นล้ม เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น สามารถกดจากด้านข้างได้ทำให้ไม่ต้องหมุนตัว ก๊อกน้ำก็ใช้แบบก้านปัดจะได้ใช้แรงน้อย พื้นปรับให้เรียบเพื่อความสะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ และเมื่อใช้งานไปนาน ๆ อุปกรณ์ต่าง ๆ อาจมีการชำรุด เราก็คำนึงถึงเรื่องนี้ โดยโรงพยาบาลสามารถโทรมาคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปแก้ไข ทุกคนจะได้ใช้ห้องน้ำอย่างมีความสุขสมกับเป็นพื้นที่แห่งความสุขจริง ๆ นายธนนิตย์ รัตนเนนย์ Marketing Director บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด

จากเดิม อาคารผู้ป่วยนอกจะแออัดมาก มีคนไข้และญาติมารอผลแล็ป รอรับยา ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิดก็ยิ่งแออัดมากขึ้น อาคารร่มไม้สาที่สร้างขึ้นมาก็ได้มาเป็นที่พักคอยในช่วงรอผลแล็ป หรือรอญาติมารับ ช่วงเย็นก็เป็นที่พักผ่อนของคนไข้ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล สำหรับห้องน้ำก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่แต่เดิมเป็นอาคารเก่าชำรุด เมื่อได้รับการปรับปรุงก็สะดวกสบาย ผู้สูงอายุและผู้พิการก็ใช้ได้สะดวก ปลอดภัย และสะอาด ที่พิเศษคือห้องน้ำใหม่มีอ่างล้างเท้า ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนภาคเหนือที่มักจะล้างเท้า เมื่อมีอ่างล้างเท้าแล้ว พื้นห้องน้ำก็ไม่ชื้นแฉะ ไม่ลื่น ไม่อันตรายเหมือนเดิม นพ.เกรียงศักดิ์ ธนอัศวนนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่

ลานสุขใจช่วยแก้ปัญหาในการมาส่งผู้ป่วย เมื่อก่อน เวลาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลจะสับสนว่าจะไปอาคารหลังเก่าหรือหลังใหม่ ไปตรงไหน ลานสุขใจที่สร้างขึ้นจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นจุดคัดกรองผู้ป่วยก่อนที่จะแยกไปตรวจรักษาในจุดต่อไป ที่นี่ยังเป็นจุดนัดพบสำหรับผู้ป่วยและญาติที่จะนัดหมายมารับกันด้วย ในส่วนของห้องน้ำ เดิมห้องน้ำของโรงพยาบาลมีการซ่อมแซมโดยไม่มีหลักวิชาการ ทำให้เกิดปัญหาให้ต้องแก้ไขอยู่ตลอด เมื่อมีการปรับปรุงแล้วก็ทำให้ได้รับคำชื่นชมมากที่เรามีห้องน้ำที่สะอาด สะดวก และสวยงาม นพ.ปรีชา สุมาลัย ผู้อานวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี

ความสุขที่ได้รับจากพื้นที่แห่งความสุขนับเป็นของขวัญอันล้ำค่าในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปนี้จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนสืบไป