Biz news

กสิกรไทยจัดเวิร์คช็อปออนไลน์ดึงนิวเจน ร่วมกู้โลกกับห้องเรียนภาวะโลกรวน    



กรุงเทพฯ-กสิกรไทยจัดเต็ม! กิจกรรม AFTERKLASS เวิร์คช็อปส่งท้ายปลายปี ชวนนิวเจนร่วมคลาสออนไลน์ “ป้องกันและบรรเทาภาวะโลกรวนต้องทำยังไง AFTERKLASS มีคำตอบให้” หวังให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจปัญหาภาวะโลกรวน และความสามารถในการปรับตัวและวิธีการบรรเทาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง ดูแลโลกอย่างยั่งยืน 

นายรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสื่อสารและองค์การสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญผลกระทบจาก “ภาวะโลกรวน” ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน จนส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นวาระเร่งด่วนของประชาคมโลกที่ร่วมกันพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกินกว่า 1.5 - 2 องศาเซลเซียส ด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ตามความตกลงปารีส และสำหรับประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) 

AFTERKLASS ซึ่งเป็นโครงการ CSR ของธนาคารกสิกรไทย เป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นให้ความรู้ทางการเงินแก่เยาวชนไทย อายุ 15-20 ปี เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นภารกิจที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง  รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการบรรเทาภาวะโลกรวนด้วยกัน จึงได้จัดกิจกรรม “ป้องกันและบรรเทาภาวะโลกรวนต้องทำยังไง AFTERKLASS มีคำตอบให้” เวิร์คช็อปออนไลน์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาของธรรมชาติให้แก่เยาวชน สร้างความรู้ ความเข้าใจ และผลักดันให้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง เพื่อการดูแลโลกอย่างยั่งยืน 

น้องๆ ที่เข้าร่วมเวิร์คช็อปได้เรียนรู้จาก 2 วิทยากร ผู้มีชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อม ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ อาจารย์ต้อม น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิโลกสีเขียว และคุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดง และผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) นอกจากนี้ยังเป็นทูตสันถวไมตรีประจำประเทศไทยคนแรกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Thailand Goodwill Ambassador - UNEP) ตลอดกิจกรรม ทั้ง 2 กูรู ได้ถ่ายทอดความรู้อย่างลึกซึ้งถึงต้นตอและความสัมพันธ์ของปัญหาที่เชื่อมโยงกัน กระตุ้นจิตสำนึก และส่งต่อแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับนิวเจนผ่านการพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนชักชวนให้น้องๆ สร้างพันธสัญญาร่วมกันในการเริ่มลงมือทำเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวน สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ธนาคารกสิกรไทยมุ่งเน้นมาโดยตลอด   

กิจกรรมของห้องเรียนโลกรวนใน 1 วันประกอบด้วย ภาวะโลกรวน 101 “โลกรวนจริงหรือหลอก” เนื้อหาเกี่ยวกับความหมายและสาเหตุของภาวะโลกรวนรวมไปถึงวิธีรับมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ภาวะโลกรวน 102 “อากาศแปรปรวนจากเหนือลงใต้” ชวนวิเคราะห์เหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศและประสบการณ์ภาวะโลกรวนที่น้องๆ ต้องเผชิญรวมทั้งมีการระดมความคิดเรื่อง “โลกรวนแล้วจะอยู่ยังไงให้รอด” และปิดท้ายด้วยภาวะโลกรวน 103 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาภาวะโลกรวนผ่านการบรรเทาและการปรับวิธีการใช้ชีวิต รวมทั้งมีการสะท้อนความคิดจากห้องเรียน AFTERKLASS เพื่อร่วมให้คำมั่นสัญญาในการปรับตัวและบรรเทาวิกฤตภาวะโลกรวนผ่านการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยหลักพฤติกรรม 8R ในชีวิตประจำวันที่ง่ายและทุกคนสามารถทำได้จริง ด้วยการใช้กระดานออนไลน์ www.webwhiteboard.com  เพื่อแชร์ออกไปและช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้กับคนอื่นๆ ในสังคมให้ตระหนักและตื่นตัวไปพร้อมกัน  

นายรวี กล่าวว่า เวิร์คช็อปภาวะโลกรวน ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากและมีเสียงตอบรับที่ดี สะท้อนความสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ AFTERKLASS มุ่งหวังไว้ในการเป็น Community ที่รวบรวมทุกความสนใจของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการเงิน การเรียน ความบันเทิง ไลฟ์สไตล์ เกม ไปจนถึงกิจกรรมเวิร์คช็อป ให้ความรู้เพิ่มทักษะด้านต่างๆ ตลอดทั้งปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งการจัดแคมป์อบรมทักษะด้านธุรกิจ การเงิน การลงทุน ประจำปีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิกในเว็บไซต์กว่า 33,000 คน และมีสมาชิกผ่าน Social Media Platform อื่นๆ อีกกว่า 50,000 คน ในปี 2565 ธนาคารกสิกรไทยจะยังคงเดินหน้าโครงการ AFTERKLASS อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่เยาวชนไทย พร้อมทั้งทักษะความรู้ใหม่ๆ ให้น้องๆ ก้าวทันความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกยุคใหม่  ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป