Travel & Entertain

ผู้ว่าฯร้อยเอ็ดแก้ปัญหาน้ำประปาหมู่บ้าน ตำบลโพธิ์ศรี-โพธิ์ชัยลดความเดือดร้อน



ร้อยเอ็ด-ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำประปาหมู่บ้านใช้การไม่ได้ ที่ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอโพธิ์ชัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ  หมู่ 8 บ้านหนองขุมเงิน ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่แก้ไขปัญหากรณีน้ำประปาหมู่บ้านใช้การไม่ได้นานกว่า 6 เดือน ซึ่งมีประชาชนประสบปัญหา 157 ครัวเรือน เป็นประชากร 535 คน ที่ไม่มีน้ำประปาที่สามารถอุปโภค-บริโภคได้อย่างเพียงพอ โดยมี ดร.เอกภาพ พลซื่อ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ,  นายกรกฏ บุญญามิ่ง นายอำเภอโพธิ์ชัย ,นายตุลธร ขามช่วง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด  อำเภอโพธิ์ชัย ,ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าฟังการแก้ปัญหา

สืบเนื่องจาก โครงสร้างของระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 8 บ้านหนองขุมเงิน เป็นประปาบาดาล มีความลึกประมาณ 72 เมตร ต้องสูบน้ำขึ้นไปหอถังสูง จำนวน 4 ถัง ซึ่งทำให้แรงดันน้ำอาจไม่เพียงพอ โดยดำเนินการ       มาตั้งแต่กรมทรัพยากรน้ำมาสร้างให้กับชาวบ้าน ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรี และได้ดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมในโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้าน ปัจจุบัน มีการขยายตัวของชุมชน ทำให้น้ำประปาอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับระบบโครงสร้างประปา      ที่ชำรุด เสื่อมสภาพตามระยะเวลา และด้วยงบประมาณจำกัด จึงได้ตั้งงบประมาณไว้เพียงการซ่อมบำรุง ซ่อมแซม ประจำปี ของทุกหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ เพียงปีละ 1 แสนบาท เท่านั้น 

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ความสำคัญในเรื่องน้ำ จากการสอบถามข้อเท็จจริงและวิเคราะห์สภาพพื้นที่เบื้องต้น พบว่า สภาพปัญหาปัจจุบันเกิดจากช่วงรอยต่อจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนปริมาณน้ำใต้ดินลดลง ประกอบกับระบบสูบน้ำใต้ดินขึ้นหอถังสูง เพื่อจ่ายน้ำประปามีแรงดันน้ำไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถจ่ายน้ำให้ประชาชนได้ทั่วถึงทุกครัวเรือน ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ต้องแก้ไขเชิงระบบ ซึ่งต้องมีแผนระยะสั้นเฉพาะหน้า คือ  ต้องเพิ่มการสูบน้ำขึ้น      หอถังสูงมากขึ้น โดยใช้ปั๊มซัมเมอร์สเพิ่มแรงดันน้ำ เพื่อปรับระบบการสูบน้ำให้สามารถสูบและจ่ายน้ำได้มากขึ้น และการแก้ไขเชิงระบบในระยะยาว คือ ต้องตรวจสอบระบบประปา ว่าต้องขยายระบบประปา หรือดำเนินการขุดเจาะบ่อประปาใหม่หรือไม่ หากงบประมาณมีไม่เพียงพอ ก็ต้องขอจัดสรรในลักษณะเงินอุดหนุนเฉพาะกิจต่อหน่วยกำกับดูแลได้ และทางด้านองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ก็มีรถขุดเจาะบาดาลที่จะสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว หากว่าบ่อน้ำบาดาลในระบบประปาเดิมที่มีเกิดเสื่อมประสิทธิภาพลง ก็สามารถขุดเจาะบ่อใหม่บริเวณใกล้เคียงบริเวณเดิมได้ เพื่อนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เสริมระบบบาดาลเดิม รวมถึงการดูสมรรถนะของระบบ ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน และจะสามารถแก้ได้อย่างไร เพื่อให้พี่น้องชาวบ้านในพื้นที่มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค อย่างยั่งยืน