In Thailand

ศูนย์อนามัยที่10อุบลฯร่วมกับเครือข่ายฯ เตรียมเปิดเรียนมั่นใจปลอดภัยไร้โควิด



ศรีสะเกษ-สถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน ขยายวงกว้างมากขึ้น ภายหลังจากเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ 2565 และโรงเรียนในเขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญและจังหวัดมุกดาหาร  ได้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นรูปแบบอื่นแทนการเปิดเรียนแบบ On site  ซึ่งจากข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 ทั้ง 5 จังหวัด  พบว่า ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน  สถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565  มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 479 ราย โดยพบที่จังหวัดอุบลราชธานี มากที่สุดถึง จำนวน 426 ราย 

นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์โอมิครอน ก็คือ โควิด-19 กลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง ได้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก  รวมทั้งประเทศไทย โดยสายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มแพร่กระจายได้รวดเร็วมากกว่า  อย่างไรก็ตามอาการมักไม่รุนแรงมาก และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในปัจจุบันสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากสายพันธุ์โอมิครอนได้ ดังนั้น การได้รับวัคซีนทั้งในส่วนของครูและบุคลากรในสถานศึกษา  ครอบครัวของนักเรียนและนักเรียนอายุ 12-18 ปี ที่สามารถรับวัคซีนได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนวัคซีนในกลุ่มอายุ 5-11 ปี (ที่จะฉีดในเด็กระดับชั้นประถมปลายลงมา) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยวัคซีนจะทยอยเข้ามาในประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาพรวมของทุกกิจการ/สถานประกอบการ จะต้องดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting เพื่อให้สามารถเปิดกิจการได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมาตรการในสถานศึกษายังคงเน้นย้ำความเข้มข้นในการปฏิบัติตามมาตรการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) และการติดตามประเมินการปฏิบัติตามมาตรการ SSS อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการซักซ้อมและปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้ม 7 มาตรการสำหรับสถานศึกษา ส่วนด้านครู บุคลากรและนักเรียน จะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตามเกณฑ์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน ได้รับการเฝ้าระวังสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือได้รับการตรวจเมื่อมีความเสี่ยงและเข้ม  การปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก และ 6 มาตรการเสริม ซึ่งหลังจากเทศกาลปีใหม่นี้  สถานศึกษาในเขตสุขภาพที่ 10 จะต้องมีการประเมิน   Thai Stop Covid Plus ควบคู่กับมาตรการ SSS ก่อนเปิดการเรียนการสอนแบบ On site ภายในวันที่ 15 มกราคมนี้ และยังคงต้องประเมินซ้ำทุก 2 เดือนอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ปกรณ์ ยังกล่าวเน้นย้ำว่า อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ก็คงจะดำเนินการเพียงกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดไม่ได้ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากท่านผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนจากหลายกระทรวง รวมทั้งครอบครัวและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนรวมทั้งสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาสามารถที่จะดำเนินการได้ตามมาตรการ และกลับมาเปิดเรียน On site  กลับเข้าสู่ระบบการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งได้อย่างปลอดภัย ตามแนววิถีใหม่แบบ New Normal ต่อไป 

ข่าว/ภาพ ... บุญทัน  ธุศรีวรรณ   ศรีสะเกษ