In Thailand

ฟาร์มหมูแปดริ้วเหลือแค่เพียงฟาร์มร้าง มีไม่ถึง40รายจากอดีตที่มีกว่า300ราย



ฉะเชิงเทรา-เหลือเพียงฟาร์มร้าง จากแหล่งเลี้ยงสุกรขุนอันดับหนึ่งของประเทศกว่า 300 รายเมื่อ 20 ปีก่อน หลังเกิดโรคระบาดซ้ำซากทำเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยขาดทุนล้มลงเหลือไม่ถึง 40 ราย ล่าสุดยังมีอหิวาต์แอฟริกาหรือ ASF เข้ามาระบาดซ้ำเติม ทำผู้เลี้ยงรายย่อยแทบสูญพันธุ์ เหตุจากส่วนใหญ่หยุดเลี้ยงพักฟาร์มรอคอยวัคซีนมานานตั้งแต่ต้นปี 2564 ช่วงการระบาดเริ่มแรก ต้นเหตุที่แท้จริงทำสุกรหายไปจากตลาดเกือบทั้งระบบ

วันที่ 17 ม.ค.64 เวลา 07.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมจิตร์ วัฒนกิจวิชัย อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77 ม.4 ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ขนาดฟาร์ม 1 พันตัว ในอดีตว่า ขณะนี้ตนเองพร้อมด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เกือบทั้งหมดจำนวนกว่า 40 ราย ได้หยุดเลี้ยงสุกรหรือพักฟาร์มมาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว

หลังจากได้มีโรคอหิวาต์แอฟริกา ASF เข้ามาระบาดในพื้นที่เมื่อประมาณเดือน ม.ค.64 ที่ผ่านมา จนทำให้สุกรที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ทยอยป่วยล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จนหมดเกลี้ยงทั้งฟาร์ม ตั้งแต่เมื่อประมาณเดือน มี.ค.- เม.ย.64 ที่ผ่านมา โดยมีเกษตรกรที่ได้แจ้งให้แก่ทางปศุสัตว์เข้ามาทำลายฝังกลบเพื่อขอรับเงินค่าชดเชยในราคาตัวละ 9 พันบาทไปแล้ว ตั้งแต่ในช่วงของการระบาดครั้งนั้น แต่มีบางรายที่ไม่ได้แจ้งทำลาย

โดยที่ฟาร์มของตนในขณะนั้น มีสุกรอยู่ในฟาร์มประมาณ 800 ตัว ทั้งสุกรขุนและแม่พันธุ์ ได้รับความเสียหายไปด้วยทั้งหมด แต่ตนเองไม่ได้แจ้งเพื่อขอรับเงินค่าชดเชย เนื่องจากไม่คิดว่าจะได้รับการเยียวยาชดเชยจากทางภาครัฐในขณะนั้น จึงได้ทยอยขายออกไปบางส่วนและเสียหายไปบางส่วน หลังจากนั้นจึงได้หยุดเลี้ยงและพักฟาร์มมาอย่างยาวนานจนเกือบตลอด 1 ปีเต็มแล้ว

ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ยังคงมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 10 รายจากทั่วทั้งจังหวัด ทั้งที่ในอดีตนั้น จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นแหล่งผลิตเนื้อสุกรมากที่สุดในประเทศ ที่มีเกษตรกรทั้งรายใหญ่ที่มีการเลี้ยงกันนับหมื่นไปจนถึงแสนตัว และฟาร์มขนาดกลางจำนวน 5 พันไปจนถึง  1 หมื่นตัวรวมถึงรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 5 พันตัวลงมาถึงกว่า 300 รายเมื่อ 20 ปีก่อน แต่หลังเกิดโรคระบาดในสุกรบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับทายาทคนรุ่นหนุ่มสาวไม่นิยมที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรต่อไปอีกแล้ว

จึงทำให้เกษตรกรหลายรายต้องเลิกเลี้ยงกันไปเป็นจำนวนมาก จนเหลือไม่ถึง 100 ราย ในช่วงก่อนหน้าเกิดการเข้ามาระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) และเหลือเพียงประมาณ 10 รายที่ยังเลี้ยงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากมีวัคซีนหรือยารักษาโรค ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ เชื่อว่าจะยังคงมีเกษตรกรอีกหลายฟาร์ม ที่ต้องการที่จะกลับมาเลี้ยงใหม่ เนื่องจากยังคงมีโรงเรือน เล้าสุกร และอุปกรณ์ในการเลี้ยงเดิมอยู่แล้ว

แต่อาจจะมีบางรายที่จะไม่กลับมาเลี้ยงใหม่อีก เนื่องจากไม่มีคนสืบทอดที่จะมาทำอาชีพนี้ต่อไป โดยเฉพาะที่ฟาร์มของตนนั้น คนรุ่นใหม่ๆ ได้หันไปทำอาชีพอื่นกันหมด ส่วนตนเริ่มมีอายุมากขึ้นแล้วอาจจะทำต่อไปอีกไม่ไหว และที่สำคัญการที่เกษตรกรจะกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ได้นั้นจะต้องมีวัคซีนในการควบคุมโรค ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีวัคซีนเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ และจะต้องรอไปอีกนานมากน้อยแค่ไหน นายสมจิตร์ กล่าว

 สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา