In News

'ชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส'รับเรื่องร้องเรียนจาก ดาราดังเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์



กรุงเทพฯ-นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (18 ม.ค. 65) ได้รับข้อร้องเรียนจากนายสุขพัฒน์ โล่วัชรินทร์ (ส้วม-สุขพัฒน์) นักแสดงและผู้เขียนบท ว่าได้รับความเสียหายจากการถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคนในครอบครัวให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น มากกว่า 1 ล้านบาท

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 นายสุพจน์ โล่ห์วัชรินทร์ ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด แต่อ้างว่ามีหลักฐานว่านายสุพจน์ฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและหลอกลวงให้โอนเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,350,000 บาท โดยได้หลงเชื่อและได้ทำการโอนเงินผ่านแอปพิเคชันระบบมือถือขณะอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ หลังจากโอนเงินไปมาตรวจสอบอีกทีจึงรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจำนวนดังกล่าว จึงเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับคนร้ายต่อไป

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อยากรณรงค์ให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยรูปแบบใหม่เหล่านี้ เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ “อยากให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับประชาชน ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) จะเร่งรัดติดตามคดี และติดตามเงินมาคืนให้ได้ถึงที่สุด และอี่กเรื่องคือ บัญชีม้าหรือบัญชีที่ถูกนำมาใช้หลอกลวงต้องรีบอายัดให้เร็วที่สุด แต่ก็มักไม่ทันเพราะจะถูกโอนต่อไปภายใน 1-2 นาที โดยกำลังหาแนวทางร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถอายัดบัญชีได้เร็วขึ้น” นายชัยวุฒิกล่าว

รมว.ดีอีเอส กล่าวย้ำว่า อยากฝากสื่อมวลชนช่วยแจ้งเตือนและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนด้วย โดยช่วงนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักมาก เพราะรู้ว่าเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการกวาดล้าง พวกแก๊งเหล่านี้จึงรีบทำงานหนัก ก่อนถูกกวาดล้างจับกุม และอยากเตือนประชาชนว่า  ข้อแรกอย่าเชื่อ โดยปกติไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐโทรหาเพื่อให้ประชาชนนำเงินมาตรวจสอบ ปัจจุบันปัญหาคือ มีการโอนเงินได้ง่าย สิ่งสำคัญคือ ควรมีคำเตือนในระบบแอปพลิเคชั่นให้ หากสงสัยให้สอบถามหน่วยงานก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ

ด้านผู้เสียหาย นายสุขพัฒน์ โล่วัชรินทร์(ส้วม) กล่าวว่า โดยส่วนตัวเคยได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์รูปแบบนี้มาก่อน แต่ไม่เคยโอนเพราะศึกษาข้อมูลมาก่อน จึงไม่เคยหลงเชื่อ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้แจ้งเตือนที่บ้านก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น และอีกสาเหตุที่คุณพ่อของตนหลงเชื่อ เพราะผู้โทรอ้างตัวว่าเป็นพนักงานจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่คุณพ่อเป็นลูกค้าอยู่ โดยกล่าวอ้างว่าพบการไปเอาประกันสินไหมโควิดที่ภูเก็ต และบัญชีมีความเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด

โดยมิจฉาชีพเกลี้ยกล่อมว่าคุณพ่ออาจถูกแอบอ้างชื่อ พร้อมแสดงเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ปลอมแปลงมาให้ดูทางไลน์ หลอกลวงจนหลงชื่อยอมโอนเงินไป โดยอ้างว่าเพื่อตรวจสอบ ซึ่งมีข้อน่าสงสัยคือ บัญชีเป็นชื่อตัวบุคคล โดยทำการโอน 3 ครั้งจนหมดบัญชี รวมยอดเงิน 1,35,000 บาท ต่อมาราวครึ่งชั่วโมง รู้ตัวว่าถูกหลอกลวง จึงได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจ

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 “มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”

สำหรับปัญหาบัญชีม้าที่พบชื่อซ้ำๆ กัน มีสาเหตุจาก 1.จ้างเปิด โดยผู้เปิดบัญชีให้รับรู้อยู่แล้ว และ 2. เจ้าของชื่อถูกหลอกให้เปิด มีการออกหมายเลขบัญชี โดยอาจถูกหลอกว่าใช้เพื่อการสมัครงาน เป็นต้น