Travel Sport & Soft Power

‘บ้านปูนาอุดรฯ’ไอดอลเลี้ยงปูนาก็รวยได้ เลี้ยง2ปีปลดหนี้นับล้านแถมมีกำไรต่อทุน



อุดรธานี-ชาวสวนผักเพาะพันธุ์ปูนาขายรายได้ดีเลี้ยง2 ปีปลดหนี้มีกำไร เตรียมทำปูนาแปรรูปขายส่งนอก

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.30  น.  ผู้สื่อข่าว ได้เดินทางไป ที่บ้านปูนาอุดรธานี  เลขที่ 283 ม.7 บ.ดงมะกรูด ต.หนองไฮ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี นางพรเพ็ญ หรือแม่พร บุตตาธรรม อายุ 45 ปี เป็นเจ้าของบ้านปูนาอุดรธานี อารมณ์ดี ที่เคยยึดอาชีพ ปลูกกุหลาบป่าร้อยมาลัย , หอมแบ่ง (ต้นหอม) และผักต่างๆ ต่อเนื่องมารวม 27 ปี แต่ยังเป็นหนี้เรื่อยมา ก่อนหันมาทำบ้านพักริมถนนเข้าหมู่บ้านเป็น ฟาร์มปูนาน้ำใส (บ่อปูนซีเมนต์) สำหรับผลิต พ่อ-แม่พันธุ์ ขาย ตามคำแนะนำของลูกชาย ที่ไม่อยากให้พ่อแม่เลิกปลูกผัก และห่างไกลจากสารเคมี

ที่หน้าบ้านกำลังสร้างโรงแปรรูปปูนา  อาทิ ปูดอง , ดองปูสมุนไพร , น้ำพริกนรกปูนา , ปูนาไข่เค็ม , อ่องมันปูนา , น้ำยาขนมจีนปูนาแห้ง และอื่นๆ ขยายการเพาะเลี้ยง โดยการนำแปลงนาข้าว 1 ไร่เศษ ทำเป็นฟาร์มปูนาธรรมชาติ (บ่อดิน) ที่บ้านโคกสะอาด ต.หนองไฮ ปรับแต่งล้อมด้วยกระเบื้องหลังคาเก่าเป็นระบบปิด อุปกรณ์ระบบน้ำก็ใช้จากงานปลูกผักเดิม แถมให้ข้อมูลแบบไม่หวง หรือแบบไม่กั๊ก พร้อมเชิญชวนชาวเกษตรกรผู้สนใจมาทดลองเลี้ยงปูนา เพราะใช้เงินลงทุนต่ำ แต่รายได้ดี

นางพรเพ็ญ บุตตาธรรม เล่าว่า สามีทำงานที่ อบต.หนองไฮ นอกเวลางานก็มาทำเกษตร มีลูกชาย 2 คน ได้ทุนเรียนพาณิชย์นาวี มีงานทำอยู่ในทะเลไทยแล้ว ครอบครัวเราทำการเกษตรมาตลอด 27 ปีปลูกต้นหอม 50 ไร่ ปลูกอ้อย 30 ไร่ ทำนา 30 ไร่ จากที่ดินเช่าและของเราบ้าง แต่ก็ยังมีหนี้กับ ธกส.หลายแสนบาท แต่เมื่อมาเลี้ยงปูนาเพียง 2 ปี 1 เดือน ปลดหนี้ ธกส. และหนี้อื่นๆรวมเกือบ 1 ล้านบาท จนหมดแล้ว

 “ลูกชายอยากให้เลิกปลูกผัก เพราะใช้สารเคมีมานานแล้ว ลูกคนโตสั่งซื้อพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม จากบ้านแพร้วมาให้ 600 ต้น ส่วนลูกชายคนเล็กสั่งซื้อพ่อ-แม่พันธุ์ปูนามาให้ทดลองเลี้ยง 100 คู่ พันธุ์มะพร้าวปลูกได้ทั้งหมด แต่พ่อ-แม่พันธุ์ปูนาคิดหนัก เพราะไม่เคยเลี้ยง ใครจะซื้อ ตามท้องไร่ท้องนาก็มี ลูกก็มาสอนให้ศึกษาจากอินเตอร์เน็ท บอกตรงๆทำแบบไม่ตั้งใจ เอาไปแอบเลี้ยงไว้หลังบ้าน ไม่กล้าบอกเพื่อนบ้าน กลัวเขาหัวเราะ และเพิ่งกล้าติดป้ายที่หน้าบ้าน เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ”    

นางพรเพ็ญ บุตตาธรรม เล่าต่อว่า เมื่อก่อนฟาร์มเลี้ยงปูนาเป็นบ้านพักอาศัย แต่เดี๋ยวนี้มีปลวกขึ้น จึงย้ายเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน แล้วดัดแปลงเป็นบ่อเลี้ยงปูนา เมื่อลูกปูนามีมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกชายได้เปิดเพจ “บ้านปูนาอุดรธานี” เป็นช่องทางการขาย เวลาผ่านไป 9 เดือน ขายพ่อ-แม่พันธุ์ได้ครั้งแรก 20 คู่ๆละ 60 บาท รวม 1,200 บาท ลูกค้าอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี จากนั้นราคาขายเพิ่มเป็นคู่ละ 70 และ 80 บาท ก็มีลูกค้าสั่งซื้อมาต่อเนื่อง รายได้เฉลี่ยเดือนละ 6-7 หมื่นบาท บางเดือนขายได้เป็นหลักแสนบาท ขณะมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนไม่มาก ส่วนปูที่แม่ค้าสั่งไปทำอาหารจะขาย 130 บาท/กิโลกรัม

 แม่ปูจะออกลูกปีละ 3 ครั้งๆละ  400-600 ตัว แต่ต้องล้อเลียนธรรมชาติ(หลอกปู) ให้ผสมพันธุ์กัน โดยการใช้น้ำจากสปริงเกอร์ และน้ำไหลจากท่อ ทำเสมือนมีฝนตก เรามีกำลังเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ในบ่อน้ำใส 3 หมื่นตัว ลูกปูที่เหลือเอาไปลงบ่อธรรมชาติ(ระบบปิด) ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 6 แสนตัว หรือประมาณ 3-4 ตัน ปูนาส่วนนี้จะเอาไปแปรรูป เป็นสินค้าของบ้านปูนาอุดรธานี มีผู้สนใจสั่งซื้อมาไม่ขาดจนทำขายไม่ทัน จึงมีแผนจะผลิตป้อนตลาดทุกวัน ขณะนี้กำลังสร้างโรงครัวขึ้นมาทำสินค้าอาหารแปรรูปจากปูนาขายโดยเฉพาะ (เป็นช่างเอง) รวมทั้งส่งขายร้านอาหารประจำ ”        

นางพรเพ็ญ บุตตาธรรม อธิบายด้านเทคนิคว่า พ่อ-แม่พันธุ์ปูนา เป็นพันธุ์กำแพงเพชร และพันธุ์พระเทพ พ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงอยู่คือลูกผสม  การเลี้ยงในระบบน้ำใส และธรรมชาติ เหมือนกัน จะใช้อาหารเดียวกันคือ อาหารเม็ดปลาดุก พืชผักสีเขียว และไม่มียาปฏิชีวนะ-สารเคมี บ่อปูนาน้ำใสจะปล่อยน้ำออก หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อทุก 2-3 วัน ส่วนบ่อธรรมชาติมีเพียงปล่อยน้ำเพิ่มทุกวันเท่านั้น        

เมื่อปูนาผสมพันธุ์จนตั้งท้อง จะต้องเอาใจใส่สังเกตแม่ปูทุกขั้นตอน เมื่อพบตั้งท้องให้แยกมารวมเฉพาะแม่ปูไว้ที่บ่อผดุงครรภ์  จนแม่ปูสภาพใกล้คลอด นำแยกออกมาที่ห้องคลอด  คลอดแล้วแยกออกไปพักฟื้นจนแข็งแรง ส่งกลับมาผสมพันธ์อีก ส่วนลูกปูก็จะต้องเอามาอนุบาล คัดเลือกเอาไว้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ก่อนนำไปที่บ่อเลี้ยงธรรมชาติ และปูนาที่เลี้ยงจะมีนิสัยเชื่องไม่ดุร้าย เพราะเราเลี้ยงเขาแบบเอาใจใส่เสมือนลูก ไม่เหมือนตอนที่เลี้ยงครั้งแรก โดนปูหนีบมือเจ็บแทบทุกวัน”      

นางพรเพ็ญ บุตตาธรรม เล่าถึงการใช้ภูมิปัญญาของคนอีสาน มาช่วยเลี้ยง “ปูนา” ว่ามีช่วงวิกฤติ “ปูนาป่วยตาย” ทุกวันๆละ 1-2 กก. ด้วยอาการท้องเสีย ลอกคราบไม่หมด และอื่นๆ แม่ของตนเองแนะนำเรื่องยาโบราณ น่าจะใช้สมุนไพรที่มีรสฝาด จึงลองนำ “ใบตอง หรือก้านกล้วย” ใส่ลงในบ่อเลี้ยง เปรียบเทียบกับบ่อไม่ใช้ พบว่าบ่อใส่ใบตองปูนาไม่ตาย จึงนำมาใช้ในการเลี้ยง รวมทั้งการใช้หญ้าเนเปีย ที่มีโปรตีนสูงมาให้ปูนาที่ป่วยหรือไม่แข็งแรงกินเป็นอาหารเสริมด้วย

ในอนาคตจะตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเลี้ยง และแปรรูปปูนาขายที่บ้านปูนาแห่งนี้ ส่งขายทั้งในประเทศและส่งต่างประเทศ เพราะมีลูกค้าสนใจสั่งซื้อสินค้าแปรรูปจากปูนาจำนวนมาก หลังจากทดลองทำแต่ไม่พอขาย และหากใครสนใจจะเลี้ยงปูนา กรุณาสั่งซื้อล่วงหน้า เพราะต้องใช้เวลาเก็บและคัดเลือกปูนาตามลูกค้าสั่ง โดยติดต่อสั่งซื้อในเพจ “บ้านปูนาอุดรธานี” หรือทางโทรศัพท์ 081-7698987 (แม่พร)

กฤษดา  จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี