Travel Sport & Soft Power
ดิจิทัลมีเดียม.ศรีปทุมปั้นนศ.โชว์บนNFT เปิดโอกาสทำเงินแบบไร้พรมแดน
กรุงเทพฯ-ภายในช่วงเวลาไม่ถึงปี ‘NFT’ หรือ Non-Fungible Token กลายเป็นศัพท์ยอดฮิตที่ผู้คนรู้จักและเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป ศิลปินสมัครเล่น ดารา แบรนด์เก่าใหม่น้อยใหญ่ ต่างทยอยตบเท้าก้าวเข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งงาน Illustration เพลง รูปถ่ายตัวเอง ทวิต ตัวละครและอุปกรณ์สำหรับ GameFi ที่ดินบน Metaverse และอีกสารพัดรูปแบบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลัง NFT จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกอนาคต และ NFT คงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมนุษย์เหมือนที่อินเทอร์เน็ตเป็นในวันนี้ คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงไม่รอช้า รีบปรับตัว ปรับหลักสูตรให้เท่าทัน พัฒนานักศึกษาให้พร้อมสำหรับอนาคต
หนึ่งในคณาจารย์ที่่ผลักดันเนื้อหาเรื่อง NFT ให้บรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรอย่างจริงจังคือ อาจารย์ตั้ม-เกรียงไกร กงกะนันทน์ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะภาพพิมพ์และอีกนานาแขนง ที่หันมาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่นี้ “ช่วงสักสองปีก่อน NFT ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศเรา ถามใครก็ยังไม่ค่อยมีคำตอบเท่าไร ตอนแรกเราแค่ลองศึกษา ทำงานขาย นำเอาความรู้มาสอนนักศึกษา แต่ปรากฎว่ามันมีอะไรให้ศึกษาเรื่อย ๆ เลย เพิ่งเข้าใจ NFT ได้ไม่นาน ก็มีเรื่อง Play-to-Earn เข้ามา มีเรื่อง Metaverse อีก ในฐานะอาจารย์ เราต้องเข้าใจว่าโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น เพราะนักศึกษาที่เราสอนจะเติบโตไปทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านี้” อาจารย์ตั้มเล่า
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่เขาหันมาให้ความสำคัญกับ NFT เป็นเพราะช่วงโควิด-19 มีนักศึกษาประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่ง NFT อาจเป็นช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ให้พวกเขา ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่เปิด
โอกาสให้ศิลปินขายดิจิทัลอาร์ตแบบออริจินัล และเป็นไปได้ที่จะรับรายได้เป็นส่วนแบ่งในทุก ๆ การขาย ยิ่งมีคนซื้อและไปขายต่อเท่าไร เจ้าของผลงานยิ่งได้รับประโยชน์
เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมและตลาด คณะสอดแทรกเนื้อหา NFT เข้าไปในหลายวิชา โดยเนื้อหาไม่ได้มีเพียงแค่การสร้างงานศิลปะเท่านั้น แต่รวมทุกองค์ความรู้ที่จำเป็น
“การทำงานศิลปะสวยเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ตลาดกลุ่ม NFT กว้างกว่านั้น กลุ่มคนซื้ออยู่ทั่วโลก งานของเราอาจไม่ต้องโชว์ทักษะมากก็ได้ และไม่ต้องเป็นภาพเสมอไป อาจเป็นรูปถ่าย เพลง Performance ที่มีคอนเซปต์และดีไซน์เฉพาะตัว วางแผนการตลาดและการโปรโมตให้คนรู้จักเราให้เป็น พวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้
“นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน บางแห่งเหมาะกับการประมูล บางแห่งเหมาะกับการลงงานเป็นคอลเล็กชัน แต่ละแห่งเสียค่ามินท์ ค่าแก๊ส ไม่เท่ากัน รวมถึงควรเข้าใจเรื่อง Cryptocurrency, Blockchain และ Cybersecurity พื้นฐาน การสื่อสารกับลูกค้าหรือนักสะสม และการสร้างคอมมูนิตี้ของตัวเอง” อาจารย์ตั้มยกตัวอย่างทักษะที่เหล่าศิลปินควรเรียนรู้ไปพร้อมกับการสร้างสรรค์งานดิจิทัลอาร์ต
เพื่อสอนให้ได้อย่างลึกซึ้ง อาจารย์ตั้มตั้งใจเป็นนักปฏิบัติที่สร้างผลงานและลงขายเองด้วย หนึ่งในตัวอย่างผลงานคือ ‘The 3D Devils’ คอลเล็กชันปีศาจที่ใช้ดวงตาสื่อสารความรู้สึกและจิตวิญญาณ ทำให้อาจารย์รู้จริงจากการลงมือทำ ไม่ได้เข้าใจแต่เพียงทฤษฎี
นอกจากอาจารย์จะพร้อมแล้ว คณะเองก็หาหนทางสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเช่นกัน ทั้งการชวนศิษย์เก่าและปัจจุบันมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ จัดทำเนื้อหา ให้คำปรึกษาเรื่องการขายงาน จัดตั้งกองทุนที่มอบทุนให้นักศึกษาไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายบนแพลตฟอร์ม
“ตอนนี้ เรายังดำเนินการร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Metaverse และจะเริ่มส่งนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ ฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse ในบริษัทหลายแห่งด้วย” อาจารย์ยืนยันการพร้อมปรับตัวของคณะที่น่าติดตาม
ด้วยการสนับสนุนนี้ เราจึงเห็นนักศึกษาของคณะดิจิทัลมีเดียขายผลงาน 1 ชิ้นได้ในหลักแสนบาท และคงเกิดปรากฎการณ์แบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้จะมีผู้คนถกเถียงกันว่า NFT ถือเป็นงานอาร์ตหรือเปล่า และอาจเป็นเพียงกระแสที่เข้ามาสักพักแล้วเกิดฟองสบู่แตก แต่อาจารย์ตั้มเชื่อว่า NFT อยู่ที่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอะไรให้มนุษย์ค้นหาอีกมากมาย
“คิดว่า NFT เป็นเหมือนอินเทอร์เน็ต สมัยก่อน คนก็ไม่รู้จักว่าคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง เมื่อสักปีก่อน คนอาจเคยได้ยินคำนี้เฉย ๆ แต่พอปีนี้ คนรู้จักและลงขายงานกันมากขึ้น เห็นว่ามีโอกาสอีกมาก หลายบริษัทมุ่งสู่ Metaverse เลยคิดว่าไม่เป็นกระแสปีสองปีแน่นอน นอกจากซื้อขายเพื่อสะสมหรือเก็งกำไรแล้ว มันจะถูกใช้งานจริงมากขึ้น และชีวิตเราจะต้องปรับตัวอยู่กับเทคโนโลยีนี้”