Travel Sport & Soft Power
ปรับตัวแล้วทำให้เดินต่อได้แม่ค้าตลาดนัด พบเส้นทางทำการค้าฝ่าวิกฤติ
ฉะเชิงเทรา-ปรับตัวแล้วเดินต่อได้ แม่ค้าตลาดนัดดิ้นสู้ฝ่าวิกฤตโควิด 19 จนพบช่องทางทำเงินแนวใหม่ทันต่อยุคโรคระบาด หลังรับผลไม้มาเปิดหน้าร้านค้าขายผ่านตลาดสดออนไลน์ พร้อมส่งตรงถึงบ้าน ทำรายได้งดงามต่อวัน เผยเคล็ดลับทำการค้าแบบไม่ขาดทุน จากการที่ได้รู้ถึงผลกำไรก่อนล่วงหน้า เปลี่ยนวิถีจากเดิมมีรายได้แค่วันละพันกว่าบาท เป็นวันละ 3 หมื่นบาทโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสารทจีนและตรุษจีนที่ผ่านมา
วันที่ 6 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ น.ส.กรรณิกา มารวย อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 45/2 ถ.ริมคลองท่าไข่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา อดีตแม่ค้าตลาดนัดที่ล้มทั้งยืนจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ที่เข้ามาระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ในระยะแรก ที่ทำรายได้หดหายไปจนแทบไม่มีช่องทางทำกิน ก่อนดิ้นรนปรับตัวในการทำการค้ามาอย่างหลากหลายรูปแบบ สุดท้ายกลับมาประสบผลสำเร็จจากการหันมาทำตลาดการค้าแบบออนไลน์บนตลาดนัดส่วนตัว ที่สร้างขึ้นเป็นกลุ่มการค้าไว้ในโลกโซเชียล
พร้อมมีบริการจัดส่งให้ฟรีจนถึงหน้าบ้าน แต่ได้เน้นทำการขายเฉพาะภายในเขตตัวเมือง จ.ฉะเชิงเทรา และรอบนอกในอำเภอข้างเคียงบางแห่งเท่าที่จะสามารถจัดส่งได้ด้วยตนเองและคนในครอบครัว โดยเธอบอกว่าที่ผ่านมา มีอาชีพขายหม่าล่าเป็นแม่ค้าในตลาดนัด แต่เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด 19 เข้ามาในระยะแรก ทำให้มีคนออกมาเดินจับจ่ายซื้อสินค้าลดลงหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก
รวมถึงยังมีคำสั่งปิดตลาดอยู่เป็นระยะ ทำให้มีรายได้จากการขายสินค้าลดลงตามไปด้วยอย่างมาก จากเดิมที่เคยขายได้ขั้นต่ำวันละ 3,000-5,000 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้วเหลือเป็นค่าแรงวันละ 1-2 พันบาท ได้ลดลงมาเหลือแค่เพียงวันละ 7-8 ร้อยบาท ซึ่งเป็นการขายที่ยังไม่ได้ต้นทุนคืนกลับมาเลยในแต่ละวัน อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ เมื่อขายของออกไปเราไม่ได้อะไรกลับมาเลย ทั้งยังเข้าเนื้อตนเองอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีของเหลือขายไม่หมดก็มีของเสียหาย โดยไม่มีวันไหนขายของได้ดีหรือมีรายได้กลับคืนเข้ามาเลยเป็นเวลานานถึงกว่า 2 เดือนในขณะนั้น จนถึงขั้นต้องหยุดขายไปในที่สุด เพราะยิ่งขายก็ยิ่งขาดทุน ทั้งที่ในระยะแรกนั้นได้มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการขาย โดยเข้าไปขายยังภายในงานวัดทดแทนกลุ่มลูกค้าที่หายไปแต่ก็ไม่ดีขึ้น จึงได้เริ่มหาวิธีที่จะทำการค้าแบบเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
โดยที่คนซื้อไม่ต้องเดินทางเข้ามาหาเราเพื่อจับจ่ายซื้อสินค้ายังที่ร้าน ด้วยการเปิดเป็นกลุ่ม ตั้งเป็นกลุ่ม “ฉะเชิงเทรากินอะไรดี” เพื่อรวบรวมลูกค้าและผู้คนให้เข้ามาอยู่รวมกันบนเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะลูกค้าประจำเป็นลำดับแรก เพื่อเปิดรับออเดอร์และวิ่งส่งสินค้าให้ลูกค้าเองโดยตรง ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อและขายของได้ดีขึ้นมาก จนได้รับความนิยมจากลูกค้ามากขึ้นเป็นทวีคูณเป็นลำดับ
เนื่องจากลูกค้าได้รับความสะดวกไม่ต้องเดินทางมาเลือกซื้อเอง โดยสินค้า คือ ผลไม้ที่รับมาจากตลาดไทย และจากชาวสวนโดยตรง นั้นเป็นสินค้าที่คัดมาอย่างดีแบบเกรดเอที่มีความสดใหม่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ร้านค้าแบบออนไลน์ที่สร้างขึ้นมาในภาวะวิกฤตจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปีแล้ว นับจากที่โรคโควิด 19 เข้ามาระบาดครั้งแรกในประเทศไทย
จุดเด่นของตลาดออนไลน์ คือ เราสามารถขายได้ตลอดเวลา และขายได้ทุกวัน โดยเปลี่ยนจากการนั่งรอลูกค้าอยู่แต่ในร้านกับที่ เป็นการวิ่งเข้าไปหาลูกค้า โดยที่ลูกค้าไม่ต้องมาหาเราเอง และเรายังไม่ต้องเสียค่าเช่าแผงในตลาดนัดอีกด้วย ขณะที่ตลาดค้าผลไม้แบบออนไลน์คนยังทำน้อยมากในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จึงถือเป็นโอกาสดี ที่ได้เริ่มทำขึ้นมาก่อนใครเป็นเวลานานถึงเกือบ 2 ปีแล้ว
ผิดจากเดิมที่เคยขายในตลาดนัดในบางวันยังขายของไม่ได้เงินต้นทุนกลับคืนมาเลย แต่เรายังต้องเสียค่าเช่าค่าใช้จ่ายแล้ว จึงไม่เห็นผลกำไรเพราะทุนยังไม่ได้คืนแต่เราก็ยังต้องจ่าย แต่การขายบนตลาดออนไลน์เรารู้ถึงผลกำไรได้ก่อนล่วงหน้า จากการเปิดรับออเดอร์คำสั่งซื้อจากลูกค้าก่อน จึงไม่มีการขาดทุนหรือซื้อของมาวางทิ้งเสียหายแบบเปิดหน้าร้านขายอยู่บนพื้นดินในอดีต น.ส.กรรณิกา กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา