Travel Sport & Soft Power
'วาฬบรูด้า'อุทฯหมู่เกาะอ่างทองเกาะสมุย โผล่6ตัวมากกว่าและมาเร็วกว่าทุกปี
สุราษฏร์ธานี-วาฬบรูด้าอุทยานหมู่เกาะอ่างทองเกาะสมุยสุราษฎร์ธานีปีนี้มาถึง 6 ตัวมากกว่าปีก่อน มาเร็วกว่าทุกปี
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อ.เกาะสมุย พบวาฬบรูด้าเข้ามาเวียนว่ายหากินในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน รวม 6 ตัว โดยนายณัฐวัฒน์ นุ้ยศรีราม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ได้ลาดตระเวนสำรวจติดตามและจัดเก็บข้อมูลพบวาฬบรูด้า ช่วงวันที่ 17 มกราคม 2565 จำนวน 3 ตัวแรกชื่อ เจ้าเปรมเปรมปรีดิ์ , แม่สดใสกับเจ้าแสนดี ด้านทิศตะวันตกบริเวณเกาะนายพุด เกาะหว้าใหญ่ เกาะช้างโทรม เกาะรอก เกาะแปยัด ต่อมา ประมาณวันที่ 29 มกราคม 2565 พบเจ้าสาคู , เจ้าแม่ษา และอีกตัวยังไม่สามารถระบุชื่อเสียงได้ หากินอยู่ในบริเวณเกาะรอก -เกาะแหล เกาะช้างโทรม เกาะนายพุด เกาะท้ายเพลา - เกาะว่าว ซึ่ง“เจ้าเปรมปรีดิ์” เมื่อปีที่แล้วก็ได้เข้ามาหากินในพื้นที่อุทยานฯ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม ร่วมกับ แม่วันดี เจ้าวันหยุด และ เจ้าอิ่มเอม รวม 4 ตัว
นายวิชวุทย์ กล่าวว่า วาฬบรูด้า ที่เข้ามาหากินในพื้นที่ทั้ง 6 ตัวในปีนี้ เจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้บันทึกภาพถ่าย(Photo Identification) ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่สามารถระบุชื่อตามฐานข้อมูลการจำแนกประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าวาฬบรูด้าได้เข้ามาหากินเร็วขึ้นจากปีที่แล้วที่เข้ามาหากินในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง กำลังติดตามดูว่าจะมีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินเพิ่มเติมหรือไม่ และจะเวียนว่ายหากินอยู่ในพื้นที่นานเท่าไหร่
“ อย่างไรก็ตามบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติแล้วยังสะท้อนให้เกิดกระแสด้านการอนุรักษ์ การดึงดูดการท่องเที่ยว ซึ่งขอบคุณเจ้าหน้าที่อุทยานฯที่ดูแลพื้นที่เป็นอย่างดี และขอความร่วมมือประชาชน นักท่องเที่ยวร่วมกันปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตลอดจนข้อแนะนำของอุทยานแห่งชาติในการเดินเรือ การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวและอื่นๆเพื่อช่วยกันดูแลสัตว์ทะเลหายากที่เป็นทรัพยากรล้ำค่าของท้องทะเลอ่าวไทยให้ยั่งยืนต่อไป ” นายวิชวุทย์ กล่าว
รายงานเพิ่มเติมว่า ฝูงวาฬบรูด้า ที่เข้ามาหากินในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองทั้ง 6 ตัว มาทั้งแบบออกหากินเอง และมาแบบคู่แม่ลูก จากการตรวจสอบอัตลักษณ์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตัวแรกเจ้าเปรมเปรมปรีดิ์ เป็นลูกตัวที่ 3 ของแม่พาฝัน ครีบหลังแหว่งเล็กน้อย มีจุดที่ใต้คางและลายขอบปากด้านซ้าย ตัวที่ 2 กับ 3 แม่สดใสกับเจ้าแสนดี ตัวแม่สดใสมีครีบหลังแหว่ง มีจุดสีดำเล็กๆที่เพดานปากและแพนหางด้านขวางอขึ้น ตัวที่ 4 เจ้าสาคู เป็นลูกตัวที่ 4 ของแม่สาคร มีครีบหลังสมบูรณ์ มีรอยแผลเป็นยาว 2 รอยด้านขวาของลำตัว ตัวที่ 5 เจ้าเมษา ครีบหลังขาดมีรอยแผลเป็นสีขาว มีรอยแผลเป็นหลังลำตัวด้านขวา มีลายขอบปากด้านขวา ส่วนตัวที่ 6 ยังไม่สามารถระบุชื่อได้