In Thailand

เปิดเบื้องหลัง'สั่งยุบ!!สบน.'เกิดอะไรขึ้น? ใครจัดตั้ง-ใครต้องรับผิดชอบต่อไป



กรุงเทพฯ-เปิดเบื้องหลัง"สั่งยุบ ! สบน. หรือสำนักบริหารงานบุคคลและนิติการอาชีวะ เกิดอะไรขึ้น ใครตั้ง ใครต้องรับผิดชอบต่อไป จบสำนักเถื่อนนี้จริงแล้วหรือ?"

เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ออกประกาศดังไปทั้งประเทศ อาชีวะสั่งยุบเลิกสํานักบริหารงานบุคคลและนิติการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีความภาคภูมิใจในการใช้ในการบริหารงานบุคคลและด้านนิติการ มากว่าสองปีเศษ หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก คนในอาชีวะเขารู้กันเดิมสำนักนี้ได้ถูกประกาศจัดตั้งสำนักนี้ขึ้นมาเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 โดยนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในขณะนั้น โดยอ้างเหตุผลว่าสำนักอำนวยการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของการบริหารงานบุคคลและนิติการ มีภารกิจและปริมาณงานมาก เพื่อให้การบริหารงานด้านบุคคลและงานด้านนิติการของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อราชการ  นายณรงค์ แผ้วพลสง  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในสมัยนั้น จึงอ้างว่ามีอำนาจตามความในมาตรา 28 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ให้จัดตั้งสำนักการบริหารบุคคลและนิติการขึ้น เป็นหน่วยงานภายใน ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและให้โอนบุคลากรผู้ปฏิบัติงานและอำนาจหน้าที่ของสำนักอำนวยการในเรื่องพัฒนาระบบงานและการบริหารงานบุคคล และการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมวินัยและระบบคุณธรรมกฎหมายนิติกรรมสัญญางานเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งอาญางานคดีปกครองและงานอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาไปกำหนดและเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานบริหารบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ท่ามกลางเสียงทักท้วงของหลายฝ่ายว่าอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะอำนาจตามมาตรา 28 และมาตรา 30 แห่งพรบ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 นั้นเป็นการให้อำนาจเลขาธิการเพื่อบริหารงานทั่วไป ไม่ใช่อำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง หรือประกาศตั้งสำนักใหม่ขึ้นมา และหลายฝ่ายยังมีความห่วงใยว่าอาจใช้อำนาจเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝงอื่นซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผลเพราะผู้มีอำนาจไม่สนใจที่จะทบทวน

การประกาศจัดตั้งสำนักบริหารงานบุคคลและนิติการนี้ จึงมีข้อครหามาตลอด และต่อมาทางภาคประชาชนโดยเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ซึ่งมีนายเศรษฐศิษฎ์ ณุวงค์ศรี  ได้มีการยื่นเรื่องคัดค้านและให้หน่วยงานต่างๆตรวจสอบว่าเหตุใด จึงต้องแยกเรื่องของการบริหารงานบุคคลและนิติการออกมาจากสำนักอำนวยการ และการประกาศจัดตั้งนั้นอาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีสำนักทั้งหมด 7 สำนัก ประกอบด้วย
1. สำนักอำนวยการ 
2. สำนักความร่วมมือ 
3. สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษา
4. สำนักพัฒนาครูและบุคลากร อาชีวศึกษา 
5. สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา 
6. สำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา 
7. สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา

ซึ่งในขณะนั้นเครือข่ายฯ ให้เหตุผลสำคัญคือประกาศจัดตั้งสำนักบริหารบุคคลและนิติการนั้นผิดกฎหมายเนื่องจากการออกกฎกระทรวงหรือการแก้ไขกฎกระทรวง เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้นคือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จะต้องเป็นผู้อนุญาตเสียก่อนและเสนอร่างกฎกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงนั้นเป็นกฎหมายได้ โดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  และเมื่อประกาศจัดตั้งเป็นสำนักถูกตามกฎหมายแล้วก็จะมีโครงสร้างเพิ่มขึ้นเป็นสำนักที่ 8  มี ผู้อำนวยการสำนักซึ่งเทียบเป็นผู้อำนวยการสูง มีกลุ่มงานต่างๆ เช่นเดียวกันกับอีก 7 สำนักตามกฎกระทรวง และสามารถรับสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับสำนักอื่นๆ

เมื่อนายณรงค์ แผ้วพลสง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้ใช้อำนาจนี้คนถัดมาคือ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คนปัจจุบัน ดื้อรั้นยืนยันไม่ยอมรับฟัง ข้อทวงติงจากทั้งบุคลากรภายใน และบุคลากรทั้งผู้บริหารและครูอาจารย์ สถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามาโดยตลอด หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการแล้วเป็นระยะเวลาปีกว่า  ทั้งยังได้เดินหน้าให้สำนักนี้ดำเนินการบริหารบุคคล ทั้งการโยกย้าย บรรจุแต่งตั้ง ดำเนินการทางวินัยทั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนต่อเนื่องตลอดมา และยังได้แต่งตั้งคนใกล้ชิดของตัวเองมาเป็นทำงานเป็นผู้รักษาการในตําแหน่ง สํานักบริหารงานบุคคลและนิติการ (สบน.) เพื่อวางแผนเตรียมคนใกล้ชิดของตนเองเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ 
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี และล่าสุดสำนักนี้ก็ได้ดำเนินการในเรื่องของการสอบครูผู้ช่วยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 และมีข่าวฉาวกรณีการทุจริตขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์  ตามที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกข่าวไปแล้วนั้น

หลังจากวันนี้แล้วทางเครือข่ายฯ และทุกฝ่ายที่ได้เรียกร้องฝากให้ท่านตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง กำกับดูแลให้ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ให้ผู้มีอำนาจในการบริหารอาชีวะ คือ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คนปัจจุบัน ดำเนินการให้เรื่องการบริหารงานบุคคลถูกต้องตามระเบียบกฎหมายเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ราชการและประชาชนเสียที  ให้พี่น้องประชาชน เครือข่ายฯ ครูและบุคลากรทางการศึกษาอาชีวะ เขาเชื่อมั่นฝีมือ เขาอยู่อย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี อย่าได้เบื่อหน่ายส่ายหน้าเหมือนที่ผ่านมาอีกเลย และสุดท้ายฝากท่านรัฐมนตรีได้เหลียวหันมามองผลพวงจากการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของสำนักนี้ เช่น การสรรหาผอ.สำนักต่างๆ  การแต่งตั้ง รองผอ.สำนัก ซึ่งไม่มีโครงสร้างมาเพื่อจับจองเก้าอี้ผอ.สำนัก และอื่นอีกมากมายหลายเรื่องที่เครือข่ายฯยื่นเรื่องไปให้ตรวจสอบ หากมีการทุจริตประพฤติมิชอบหรือจากระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนพรรคพวกกันไร้คุณธรรมจากการที่ตั้งสำนักบริหารงานบุคคลและนิติการ ที่ไม่ถูกต้องนี้ในช่วงที่ผ่านมา ก็ต้องดำเนินการชำระล้างให้ถูกต้องด้วย อย่าให้เขามากล่าวตามหลังได้ว่า "เสร็จภารกิจตามแผนการทุกอย่างแล้วยุบสำนักทิ้ง ทำลายหลักฐาน"

สาธุๆๆอาชีวะจะได้เจริญสักที มิใช่เป็นละครโรงใหญ่ที่แสดงขึ้นของข้าราชการฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจำ สาธุๆๆ