In Thailand
'สามัคคี'ยันไม่อมเงินผีไม่ใช่ประกันชีวิต วอนผู้ว่าฯตั้งคกก.สอบถ้าผิดยินดีรับโทษ
ศรีสะเกษ- ดร.สามัคคี แจงยิบไม่มีใครอมเงินผี ย้ำเงินฌาปนกิจไม่ใช่ประกันชีวิต วอนผู้ว่าฯศรีสะเกษ ตั้งกรรมการกลางตรวจสอบ หากพบผิดยินดีรับโทษ หากไม่ผิดเร่งชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง
จากกรณีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สชสท.) รวมตัวกันกว่า 100 คน บุกศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมไปยัง นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กรณีทางสมาคมฯจ่ายเงินประกันชีวิตล่าช้า และค้างจ่ายกว่า 175 ล้านบาท เรียกร้องให้ตรวจสอบการบริหารงานและเส้นทางการเงินภายในสมาคมฯเพื่อให้เกิดความโปร่งใสสุจริต ขณะที่ ดร.สามัคคี เดชกล้า นายกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงยอมรับจ่ายเงินล่าช้าจริง อ้างเหตุมีคนตายเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า ต่อมาผู้ว่าศรีสะเกษ ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ภายใน 15 วันพร้อมยืนยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ด้านชาวบ้านสุดทนรุดแจ้งความดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง หลังโดนเบี้ยวจ่ายเงินสงเคราะห์ไม่ตรงกำหนดระยะเวลานัดหมาย พร้อมเตรียมร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ D.S.I. ช่วยตรวจสอบ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ดร.สามัคคี เดชกล้า นายกสมาคมสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สชสท.) เปิดเผยว่า สมาคมฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 จดทะเบียนกับนายทะเบียนท้องที่เทศบาลตำบลกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ และได้รับการประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2554 ซึ่งวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ในการจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวผู้เสียชีวิต ของสมาชิกคนใดคนหนึ่งซึ่งถึงแก่กรรม และมิได้แสดงหาผลกำไรเพื่อมาแบ่งปันกันแต่อย่างใด ซึ่งสมาชิกที่มีชีวิตอยู่ เมื่อมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตก็ช่วยกันออกเงินค่าจัดการศพและสงเคราะห์ศพกันเองตามสถานะแห่งจำนวนคนเสียชีวิต
ทั้งนี้ เงินของสมาคมฯแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนหนึ่งคือเงินสงเคราะห์ เป็นเงินที่สมาคมฯได้เรียกเก็บจากสมาชิกปีละ 3,500 หรือปีละ 4,000 หรือ 5,000 บาท เก็บมาเพื่อจ่ายให้กับสมาชิกที่เสียชีวิตเป็นค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว และจำนวนเงินที่เก็บมานั้น เป็นการเก็บตามจำนวนที่เราคาดการณ์ว่าสมาชิกจะเสียชีวิตเท่าไหร่ ส่วนที่สอง คือเงินบำรุง คือเงินจากค่าสมัครสมาชิกแรกเข้า และเงินบำรุงประจำปี ปีละ 50 บาท นอกจากนั้นก็จะเป็นเงินรายได้จากส่วนต่างๆ เช่นเงินจากส่วนต่างการประกันความเสี่ยง เงินดอกเบี้ยธนาคาร เงินบริจาค ซึ่งส่วนเหล่านี้เป็นเงินบำรุง ซึ่งจะใช้ในการบริหารดำเนินการของสมาคมฯ ซึ่งเงินส่วนแรกนั้นเก็บไว้เพื่อจ่ายการเสียชีวิตอย่างเดียว โดยในช่วงที่ก่อตั้งครั้งแรก ตนได้ศึกษาข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของคนไทย ปีหนึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิต ในอัตรา 10,000 คน จะมีเสียชีวิตอยู่ที่ 68 คน จากนั้นได้ไปดูข้อมูลของคน อ.อุทุมพรพิสัย ในปี 2551-2554 อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่หมื่นละ 70 คน แต่ทางสมาคมฯได้ตั้งเป้าเพื่อรองรับอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นหมื่นละ 90 คน ไว้เป็นแนวทาง ซึ่งปัจจุบันสมาคมฯมีสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 45,000 ถ้าเสียชีวิตในอัตรา 90 ต่อ 10,000 คน ก็จะมีตัวเลขการเสียชีวิตอยู่ประมาณ 413 คน แต่ปรากฏว่าในปีนี้ สมาชิกเราเสียชีวิตสูงถึง 913 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งสมาคมฯมา เป็นอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ หมื่นละ 199 คน สูงเป็น 3 เท่าของเป้าที่คาดการณ์ไว้ เป็นวงเงินสงเคราะห์ที่ต้องจ่าย 359 ล้านบาท โดยถ้าเราเก็บเงินในอัตราเท่าเดิมคือสมาชิกคนละ 5,000 บาท ก็จะได้เงินทั้งสิ้น เพียงแค่ 215 ล้านบาท ซึ่งไม่พอจ่ายคนที่เสียชีวิต หากมีการเสียชีวิตในอัตราตามที่คาดการณ์ไว้คือหมื่นละ 90 คน หรือ 413 คน การเก็บเงินสมาชิกในอัตรา 5,000 บาท นั้น ก็ถือว่าเพียงพอจะไม่ประสบปัญหาใดๆ แต่มีการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 3 เท่าตัว จึงประสบปัญหาเงินที่เรียกเก็บมาจากสมาชิกไม่เพียงพอ ดังนั้นสมาคมฯจึงได้มีการเรียกประชุมใหญ่ขึ้นเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 700 คน เพื่อขอมติที่ประชุมในการขอเรียกเก็บเพิ่มขึ้นอีก คนละ 2,080 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 1,040 บาท ซึ่งส่วนใหญ่สมาชิกก็มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีสมาชิกค้างชำระอยู่ประมาณ 4,000 คน
อย่างไรก็ตามเกณฑ์การจ่ายเงินค่าทำศพเมื่อสมาชิกเสียชีวิตลง ทางสมาคมก็จะมีพวงหรีดเพื่อร่วมไว้อาลัยพร้อมกับมอบเงินสด 50,000 บาท ทันทีในวันฌาปนกิจ ส่วนเงินสงเคราะห์ที่เหลือ ซึ่งก่อนหน้านี้ จะจ่ายภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เราได้รับเอกสารครบถ้วน และมีการถือปฏิบัติมาตั้งแต่วันก่อตั้งสมาคม ปี 2554 จนถึงปี 2563 จึงเริ่มเกิดปัญหาเงินไม่พอจ่าย เนื่องจากสมาชิกเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว จึงได้มีการจัดประชุมใหญ่เพื่อลงมติแก้ไขระเบียบข้อบังคับเป็น เงินค่าทำศพจ่ายทันทีเมื่อสมาชิกเสียชีวิต 50,000 บาท ส่วนที่เหลือจากเดิมจ่ายภายใน 30 วัน ก็มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับโดยใช้มติที่ประชุมใหญ่ แบ่งจ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวเป็น 3 งวด ให้เแล้วเสร็จภายใน 360 วัน หรือ 1 ปี งวดแรกภายใน 180 วัน งวดที่ 2 ภายใน 270 วัน และงวดที่ 3 ภายใน 360 วัน แล้วแต่วงเงินของแต่ละคนและจ่ายตามคิว ซึ่งหากวงเงินสงเคราะห์ไม่เกิน 2 แสนบาท จะได้รับทั้งหมดภายใน 6 เดือน ส่วนวงเงินที่สูงกว่า 2 แสนก็จะได้รับเป็น 2 หรือ 3 งวด แล้วแต่วงเงิน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้ ไม่ใช่การประกันชีวิต แต่เป็นรูปแบบเงินฌาปนกิจ คล้ายๆกับฌาปนกิจหมู่บ้าน เมื่อมีคนเสียชีวิตก็จะช่วยกันออกเงินมารวมกันแล้วนำไปช่วยเหลือสงเคราะห์ครอบครัวที่เสียชีวิต ดังนั้นเงินที่สมาชิกทุกคนจ่ายมาทั้งหมดนั้น จึงมีการใช้จ่ายไปทั้งหมดในแต่ละปี ไม่ใช่การเก็บเงินมาเพื่อฝากออมกินดอกเบี้ย หรือจ่ายเบี้ยประกัน เพราะไม่ใช่การประกันชีวิต แต่คือเงินฌาปนกิจ ดังนั้นคนที่ประสงค์ลาออกจากการเป็นสมาชิกหรือไม่จ่ายเงินตามกำหนดเวลา จึงอาจถูกตัดสิทธิและไม่ได้รับเงินค่าจัดการศพหรือเงินสงเคราะห์หรือเงินที่จ่ายมาตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเสียประโยชน์แก่สมาชิกเอง ส่วนเงินที่หักไว้ล่วงหน้าและให้หาสมาชิกใหม่มาสมัครแทนที่ผู้เสียชีวิตนั้น เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมฯ ซึ่งมีรายละเอียดระบุไว้ในใบสมัครมาแต่ต้นแล้ว
ทั้งนี้ตนยืนยันว่าสมาคมยังมีความมั่นคงเข้มแข็งและตนไม่หนีไปไหน ประกอบกับสมาชิกทุกคนยังมีความเชื่อมั่นและช่วยเหลือกันมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี กระทั่งสมาคมเติบโตมีสมาชิกที่ไว้วางใจสูงถึง 45,000 คน ยืนยันว่าสมาชิกทุกคนไม่เสียเปรียบสมาคมอย่างแน่นอน มีได้แต่ประโยชน์ ไม่อยากให้พี่น้องสมาชิกเสียโอกาส ซึ่งบางรายเป็นสมาชิกแค่ 2-3 ปี จ่ายเงินฌาปนกิจสมทบมาแค่หมื่นกว่าบาท ครอบครัวก็จะได้รับค่าทำศพเบื้องต้นแล้ว 50,000 บาท ถือว่าได้กำไรไม่เสียเปรียบแล้ว และยังจะได้รับเงินสงเคราะห์อีกเป็นหลักหลายแสนบาทด้วย อย่างไรก็ตามหากสมาชิกไม่สามารถจ่ายเงินได้ทันเวลาที่กำหนดหรือติดขัดปัญหาใด สามารถติดต่อกับตนได้โดยตรง เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ที่สมาชิกควรจะได้รับ
ตนยืนยันว่าไม่มีใครอมเงินผี ไม่มีการโกงเงินอย่างแน่นอน และฝากไปถึง นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ หรือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดศรีสะเกษ ได้โปรดแต่งตั้งคนกลางที่มีความรู้ความสามารถหรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องบัญชี ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงสมาคมฯ รวม
ด้านนักวิชาการกฎหมาย มรภ.ศรีสะเกษ เผย ข้อแตกต่างระหว่าง ฌาปนกิจสงเคราะห์ กับ ประกันชีวิต แนะแยกให้ออกป้องกันการสับสน
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ผศ.วระเดช ภาวัตเวคิน อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศรีสะเกษ) เปิดเผยว่า กรณีข้อแตกต่างระหว่าง ฌาปนกิจสงเคราะห์ กับ ประกันชีวิต มีรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งการฌาปนกิจสงเคราะห์ ตามพ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 หมายถึง “กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน” ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับการประกันชีวิต ที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้สรุปคำจำกัดความไว้ว่า ประกันชีวิต หมายถึง “การชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากความตาย ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงหรือชราภาพ โดยบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต” จะเห็นความแตกต่างกันในบางประการ โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545, ข้อบังคับสมาคมฯ รวมทั้งกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโดยสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ หรือจัดตั้งโดยเอกชน รูปแบบการดำเนินการของฌาปนกิจสงเคราะห์ จะได้รับเงินสงเคราะห์ เมื่อเสียชีวิตเท่านั้น โดยจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ การจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ จะจ่ายเป็นรายเดือน หรือรายปี ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ ส่วนเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ นำมาลดหย่อนภาษีไม่ได้ ฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นการดำเนินการรูปแบบที่ไม่แสวงหากำไร แต่เป็นการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ
ส่วนกรณีการทำประกันชีวิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยประกันชีวิต และพ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 รวมทั้งกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโดยบริษัทจำกัดมหาชนจำกัด และโดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ รูปแบบการการเนินการของประกันชีวิตมีหลายรูปแบบ เช่น การประกันชีวิต การประกันอุบัติเหตุ การประกันสุขภาพ การประกันภัยแบบสะสมทรัพย์ การประกันชีวิตแบบบำนาญ การประกันชีวิตแบบลงทุน เป็นต้น การจ่ายเงินประกันชีวิต จะจ่ายในรูปแบบ เบี้ยประกัน ทั้งนี้ อยู่ที่ทุนทรัพย์ที่เอาประกันชีวิต ถ้าทุนทรัพย์ที่เอาประกันชีวิตมาก เบี้ยประกันภัยก็สูงไปด้วย และในส่วนของเบี้ยประกัน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งประกันชีวิต เป็นการดำเนินการเพื่อแสวงหากำไร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของฌาปนกิจสงเคราะห์นั้นดำเนินการภายใต้กฎหมายที่แตกต่างจากการประกันชีวิต โดยดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 และข้อบังคับ หากดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ย่อมชอบด้วยกฎหมาย.
ข่าว/ภาพ ... บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ