Travel Sport & Soft Power
คกก.ศาลพันท้ายนรสิงห์จัดพิธีบวงสรวง ดวงวิญญาณเทพซื่อสัตย์ครบรอบ318ปี
สมุทรสาคร-คณะกรรมการศาลพันท้ายนรสิงห์ จัดพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ครบรอบ 318 ปี
เมื่อเวลา 07.00 น.ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่บริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ในฐานะประธานมูลนิธิศาลพันท้ายนรสิงห์ รองประธานมูลนิธิฯ และคณะกรรมการมูลนิธิศาลพันท้ายนรสิงห์ ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนชาวตำบลพันท้ายนรสิงห์ ได้ร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณองค์พ่อพันท้ายนรสิงห์ เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ เนื่องในวันคล้ายวันครบรอบการเสียชีวิต 318 ปี โดยพิธีในช่วงเช้าเป็นการทำบุญถวายภัตราหารแด่พระภิกษุสงฆ์ 9 รูป อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ดวงพระวิญญาณสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ดวงวิญญาณพ่อพันท้ายนรสิงห์ ครอบครัวของพ่อพันท้ายนรสิงห์ ตลอดจนดวงวิญญาณของผู้ที่ได้ถูกกล่าวขานไว้ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับองค์พ่อพันท้ายนรสิงห์ทุกคนอีกด้วย
จากนั้นเวลา 08.00 น. นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณพ่อพันท้ายนรสิงห์ เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ซึ่งก็มีผู้ที่เคารพศรัทธาในองค์พ่อพันท้ายนรสิงห์ นำผลไม้นานาชนิดมาถวาย พร้อมกับเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก โดยพิธีในปีนี้ก็ได้จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งนอกจากจะมีพิธีบวงสรวงฯ แล้วนั้น ก็มีการจัดมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งหมด 100 ทุน และการแสดงรำบวงสรวงเพียงเท่านั้น
สำหรับประวัติโดยย่อของพ่อ “พันท้ายนรสิงห์”นั้น เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งในรัชสมัยพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ โดยพันท้ายนรสิงห์เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ มีชื่อเดิมว่า “สิน” เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อ “นวล” หรือ “ศรีนวล” ได้รู้จักกับพระเจ้าเสือด้วยการแข่งขันชกมวยไทยกัน เมื่อพระองค์แปลงองค์มาเป็นชาวบ้านธรรมดาและทรงโปรดในอุปนิสัยใจคอ ต่อมาได้กลายมาเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือ ในบรรดาศักดิ์ “พัน” เมื่อครั้งที่พระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย ประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี เมื่อเรือพระที่นั่งถึง “ตำบลโคกขาม” ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยวและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบกับกิ่งไม้หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงได้กระโดดขึ้นฝั่งแล้วกราบทูลให้ทรงลงพระอาญาตามพระกำหนดถึงสามครั้งด้วยกัน เนื่องจากในครั้งแรก พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษ เพราะเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย ครั้งที่สองก็รับสั่งให้สร้างรูปปั้นปลอมแล้วตัดหัวรูปปั้นนั้นแทน แต่ท้ายสุดก็ได้ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอ ในเวลาเช้าตรู่ ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ. 2247 แล้วสร้างศาลไม้ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นศาลไม้ในสมัยปัจจุบัน หลังคามุงกระเบื้องดินเผาหางมน พื้นศาลเป็นไม้ยกชั้น 2 ชั้น มีเสารองรับ 6 เสา พร้อมกับศีรษะของพันท้ายนรสิงห์และโขนเรือเอกไชยขึ้นตั้งไว้บูชาพร้อมกัน ด้วยคุณงามความดีของพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกบอกเล่าต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบันทำให้พันท้ายนรสิงห์กลายเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก ในด้านความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ที่มีต่อกฎหมายบ้านเมือง ยอมตายเพื่อมิให้กฎหมายบ้านเมืองคลายความศักดิ์สิทธิ์ มิให้เสื่อมเสียและสูญหายไป