In Thailand

สทนช.ถกผังน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง-ท่าจีน หวังแก้น้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน



สมุทรสาคร-“สทนช. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำเสนอร่างผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดเอกภาพและเป็นระบบ”

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 09.00 น. นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุมผังน้ำครั้งที่ 4 (ปัจฉิมนิเทศ) พื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน เวทีที่ 4 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายทรงเกียรติ ขำทอง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ 1 ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร และ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน เวทีที่ 4 ครอบคลุมจังหวัดสมุทรสาคร (อ.กระทุ่มแบน อ.เมืองสมุทรสาคร อ.บ้านแพ้ว) จังหวัดสมุทรสงคราม (อ.เมืองสมุทรสงคราม)  และกรุงเทพมหานคร (เขตบางขุนเทียน เขตหนองแขม) เข้าร่วม

นายทรงเกียรติ ขำทอง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ 1 ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า  ด้วยพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีนในอดีตจนถึงปัจจุบัน ประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง อันเนื่องมาจากสาเหตุ ดังนี้ แหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ไม่เพียงพอ, มีการบุกรุกแหล่งน้ำสาธารณะ, ไม่สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติมได้ตามแผน, มีการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ทำให้ขาดพื้นที่ป่าดูดซับน้ำหรือชะลอน้ำหลาก และ ความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำมีจำกัด เนื่องจากลำน้ำถูกบุกรุกและตื้นเขิน เนื่องจากการตกตะกอน ในการนี้ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงต้องมีการจัดทำ “ผังน้ำ” กล่าวคือ การจัดการระบบเส้นทางน้ำ เพื่อกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำ อนุรักษ์ลําน้ำ และ แจ้งให้ประชาชนทราบถึงพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยระดับต่างๆ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในระบบทางน้ำเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกัน และแก้ไขภาวะน้ำท่วม ซึ่งการจัดทำผังน้ำดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ได้บัญญัติไว้ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ แห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป 

นายทรงเกียรติฯ กล่าวอีกดว่า สทนช. จึงร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ  จัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 4 เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ รายการประกอบผัง ฉบับร่าง 3 รวมทั้งการใช้ประโยชน์ผังน้ำ และข้อเสนอแนะต่างๆ สำหรับทั้งประชาชน และหน่วยงาน  ตลอดจนข้อเสนอแนะด้านเกณฑ์เตือนภัยและการบริหารจัดการน้ำ คู่มือการใช้งานผังน้ำ และการใช้งานข้อมูลผังน้ำในรูปแบบแผนที่ซ้อนทับภาพถ่ายทางอากาศซึ่งแสดงบนกูเกิ้ลเอิร์ท (KMZ) ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบและร่วมพิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อร่างผังน้ำและร่างรายการประกอบผังน้ำ โดยก่อนหน้านี้ก็ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียไปแล้ว 3 ครั้ง และได้นำข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะไปพิจารณาประกอบการศึกษา พร้อมกับจัดทำร่างรายงานผลการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางคณะผู้ศึกษาจะนำผลจากการรับฟังความคิดเห็น ไปปรับปรุงรายงานผลการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2565

นอกจากนี้ผลการศึกษาผังน้ำนั้น ยังทำให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อาทิเช่น ข้อเสนอแนะการเตรียมความพร้อมในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำของผังน้ำ เพื่อช่วยลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินจากภาวะน้ำท่วม  ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน คู่มือการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดเอกภาพและเป็นระบบ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผังน้ำ

ด้านนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า เรื่องของการจัดทำผังน้ำถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพราะเป็นจังหวัดปลายน้ำที่ต้องมีความพร้อมทั้งการจัดพื้นที่รองรับน้ำจากพื้นที่ด้านบน และการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้ได้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันในการที่จะช่วยกันเดินหน้าเพื่อการจัดทำผังน้ำ อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั้งการป้องกันน้ำแล้ง และแก้ไขน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน